Thursday, October 29, 2020

คริสตจักร คืออะไร What is CHURCH ?

 คริสตจักร คืออะไร ความหมาย แปลว่าอะไร

 What is CHURCH ?

 

          พระเจ้าเตรียมโครงการไว้

          ตั้งแต่แรกมาแล้ว  พระเจ้ามีพระประสงค์ที่จะเลือกสรรประชากรไว้สำหรับพระองค์ วิธีปฎิบัติโครงการนี้  พระองค์ทรงเริ่มต้นโดยเลือกคนเพียงคนเดียวคืออับราฮัม    พระองค์ทรงสัญญากับอับราฮัมว่า  พระองค์จะกระทำให้ท่านเป็นบิดาของชนชาติใหญ่ที่จะเกิดมาและชาตินั้นจะเป็นพลไพร่ของพระเจ้าเป็นพิเศษ  เพื่อพระองค์จะทรงใช้ชาตินั้นเป็นทางที่จะอวยพระพรบรรดาชาวโลก  ประชากรของชาตินี้คือชนชาติอิสราเอล  จึงเรียกว่าเป็นประชากรของพระเจ้า  เป็นคนในเชื้อสายของอับราฮัมทั้งสิ้น (ปฐก. 12:1-3; อพย. 6:7; 19:5-6; ยน. 8:37)

          ทั้งนี้มิได้หมายความว่าทุกคนที่เกิดมาเป็นชาวอิสราเอล (ชาวยิว)  จะได้รับการอภัยโทษบาปและจะขึ้นสวรรค์ไม่ว่าเขาดีหรือชั่ว ตรงกันข้ามประวัติศาสตร์ของชาติอิสราเอลแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า  ชาวอิาราเอลส่วนใหญ่บาปหนา  ไม่ยอมเชื่อฟังพระเจ้าไม่ยอมกลับใจใหม่   และได้รับการลงโทษจากพระเจ้า  คนที่เชื่อฟังและได้วางใจพระเจ้าและซื่อสัตย์ต่อพระองค์เหมือนอับราฮัมก็มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นไม่ว่ายุคสมัยใด (อสย. 1:4, 11-20; รม. 11:2-7; 1 คร. 10:1-5; ฮบ. 3:16)  คนที่ซื่อสัตย์เหล่านี้จึงเป็นประชากรของพระเจ้าที่แท้จริง  เป็นอิสราเอลที่แท้จริงในสายพระเนตรของพระเจ้า  เขาเป็นเชื้อสายฝ่ายวิญญาณของอับราฮัมโดยแท้  เพราะเขามีความเชื่อเช่นเดียวกับท่าน (รม. 2:28-29; 4:9-12; 9:6-8)

          จากคนส่วนน้อยที่เชื่อเหล่านี้พระเจ้าทรงกำหนดบุคคลหนึ่งไว้ให้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดของมนุษย์  เป็นผู้ที่พระสัญญาของพระเจ้าเล็งถึงทั้งสิ้น  เป็นยอดแห่งบรรดาประชากรอิสราเอล  และเป็นทางที่พระเจ้าจะทรงอวยพระพรมวลมนุษย์  บุคคลนั้นคือพระเยซูคริสต์ (กท. 3:16)

          ในสมัยพระเยซูผู้เชื่อที่ยังเหลืออยู่ในประเทศอิสราเอลมีเพียงไม่กี่คน  พระเยซูทรงอบรมสั่งสอนคนพวกนี้  และทรงตั้งพวกเขาให้เป็นกลุ่มแรกที่จะเรียกว่าคริสตจักร  แต่ว่าก่อนที่จะทรงตั้งคริสตจักรขึ้น  พระองค์จำต้องสิ้นพระชนม์  ถูกฝัง  ฟื้นคืนพระชนม์  และเสด็จกลับขึ้นสู่สวรรค์เสียก่อน (มธ. 16:18, 21; กจ. 20:28; ทต. 2:14; 1 ปต. 2:9)

 

วันเกิดของคริสตจักร

          ในภาษเดิมคำว่าคริสตจักรหมายถึง ชุมชน หรือที่ประชุม  ในพระคัมภีร์เดิมหมายถึงชุมนุมชนชาติอิสราเอล  แต่ในพระคัมภีร์ใหม่หมายถึงชุมนุมชนคริสเตียน  ผู้ได้เป็นพลไพร่ใหม่ของพระเจ้า  คริสตจักรนี้ได้เกิดขึ้นในวันเพนเทคศเต  (อพย. 12:3, 6; 35:1, 4; ฉธบ. 9:10; 23:3; มธ. 16:18; 18:17; กจ. 2:1-4; 5:11; 7:38)

          วันเพนเทคศเตเป็นวันฉลองประจำปี วันหนึ่งของชาวยิว  วันเพนเทคศเตที่กล่าวถึงในหนังสือกิจการคือวันหลังจากการสิ้นพระชนม์ของพระเยซู  50  วัน  หรือหลังจากวันที่พระองค์เสด็จขึ้นสู่สวรรค์ 10 วัน  ในวันนั้นพระเจ้าได้ทรงประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์ลงมาสถิตอยู่กับบรรดาสาวกของพระองค์  ตามที่พระเยซูได้ทรงสัญญาไว้ก่อนแล้ว (ลก. 24:19; ยน. 39; 14:16, 17, 26; 16:7)  เหตุการณ์นี้เรียกว่า  บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์เป็นการกระทำของพระเจ้า  ที่ทรงนำทุกคนที่เชื่อพระเยซูเข้าร่วมกันเป็นพระกายของพระองค์และได้รับของประทานพระวิญญาณบริสุทธิ์  (กจ. 1:4-5 ; 2:33 รายละอียดอื่น ๆ ดู บัพติศมาด้วยพระวิญญาณบริสุทธิ์)

          ตั้งแต่นั้นมาทุกคนที่กลับใจเชื่อพระเยซู  ก็ได้มีส่วนร่วมในบัพติศมาด้วยพระวิญญาณนี้หมายความว่า  เขาได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์  และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของคริสตจักรทันที (กจ. 2:38-47; 1 คร. 12:13)  ทั้งนี้เป็นความจริงสำหรับมนุษย์ทุกคนที่เชื่อ  โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ภาษา เพศ  อายุ  ฐานะ  ทุกคนที่เชื่อก็ได้รับพระวิญญาณบริสุทธิ์  และรวมกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในคริสตจักรของพระเจ้า  พวกนี้เป็นเชื้อสายที่แท้จริงของอับราฮัม (กท. 3:14, 28, 29)

พระกายของพระคริสต์

          พระเยซูกับคริสตจักรรวมประสานกันสนิทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  เหมือนดังศรีษะกับกายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน  พระองค์จึงเป็นเหตุที่คริสตจักรมีชีวิตและจำเริญเติบโตได้ (อฟ. 1:20-23; 4:15-16; คส. 1:18; 2:19)  ศรีษะมีอำนาจเหนือร่างกายฉันใด  พระเยซูก็มีอำนาจเหนือคริสตจักรนั้น  (อฟ. 1:20-23)  คริสตจักรก็ยังมีส่วนร่วมในชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระองค์  และไม่มีอำนาจใด ๆ ในจักรวาลที่จะทำลายคริสตจักรของพระเจ้าได้ (มธ. 16:18; อฟ. 1:21-23; 2:5-7; 3:10)

          เนื่องจากคริสตจักรได้รับความชอบธรรมจากพระเจ้าโดยทางพระเยซูคริสต์  พระเจ้าจึงทรงเห็นว่าคริสตจักรอยู่ในพระคริสต์ คริสตจักรจึงไม่มีตำหนิริ้วรอยหรือมลทินแต่อย่างใดในสายพระเนตรของพระเจ้า (อฟ. 5:27; คส. 1:22)

          คริสตจักรที่กล่าวถึงนี้หมายถึงบรรดาคริสเตียนทุกยุคทุกสมัย  จึงเรียกว่า  คริสตจักรสากล  แต่มนุษย์ไม่เห็นคริสตจักรเหมือนที่พระเจ้าทรงเห็น  เพราะคนเห็นเฉพาะคริสเตียนเหล่านั้นที่อยู่ในโลกในสมัยของเขาและที่อยู่ในประเทศของเขา  รวมทั้งคริสเตียนดีและคริสเตียนที่อ่อนแอ   พระเจ้าทรงเห็นคริสตจักร  ในพระคริสต์  แต่มนุษย์เห็นคริสตจักรในโลก  มีริ้วรอยตำหนิเพราะคริสเตียนยังอยู่ในเนื้อหนัง  และจะไม่พ้นอิทธิพลของเนื้อหนังจนกระทั่งไปอยู่กับพระเจ้าในสวรรค์ (เปรียบเทียบ 1 คร. 1:2  กับ 1 คร. 3:1-3 และเปรียบเทียบ อฟ. 1:1-4  กับ อฟ.4:17-24)

          นอกจากนั้นคริสตจักรต่าง ๆ มีทั้งคริสเตียนแท้และคริสเตียนปลอม  ซึ่งบางทีก็ดูยากจึงแยกออกจากกันไม่ได้  แต่ในวันพิพากษาพระเจ้าจะทรงแยกออกจากกันอย่างแน่นอน  คนที่เชื่อจริงจะรอด  คนที่ไม่เชื่อจริงต้องพินาศ  พระองค์เพียงผู้เดียวที่รู้ว่าใครเป็นของพระองค์แน่  (มธ. 13:24-30; 34-43 , 47-50; 1 คร. 10:1-14; 2 คร. 13:5; 2 ทธ. 2:19)

 Life in the Early Church

คริสตจักรประจำท้องถิ่น

          คำว่าคริสตจักรยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง  เป็นความหมายที่คนทั่ว ๆ ไป  ย่อมรู้ดีอยู่แล้วคือ   หมายถึงพวกคริสเตียนที่อยู่ในท้องถิ่นหนึ่งท้องถิ่นใดมาร่วมประชุมกัน  เรียกว่า  คริสตจักรประจำท้องถิ่น  คริสตจักรสากล  เพียงแต่ย่อส่วนลงได้พอเหมาะกับจำนวนคนในท้องถิ่น (กจ. 20:17; 1คร. 1:2)

          ทุก ๆ คริสตจักรนั้นปกครองตนเองและร่วมสามัคคีธรรมกับคริสตจักรอื่น ๆ (กจ. 11:27-30; 1 คร. 16:1-4; คส. 4:15-16)  ไม่มีสภาควบคุมหรือรวบรวมทุกคริสตจักรไว้ให้เป็นองค์การ  แต่คริสตจักรทุกแห่งต้องให้การกับพระเยซูโดยตรง  เพราะพระองค์ทรงเป็นประมุขของคริสตจักร   เป็นศรีษะของพระกายจึงไม่มีโบสถ์ใหญ่หรือหัวหน้าใหญ่ฝ่ายโลกนี้ที่จะออกกฏเกณฑ์ต่าง ๆ แต่คริสตจักรประจำท้องถิ่นก็ควรจะเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  มีพระเยซูคริสต์ เป็นพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียวกัน  และมีพระวิญญาณบริสุทธิ์อยู่ในใจของคริสเตียนทุกคน (อฟ. 4:4-6)

          ตามคำสั่งของพระเยซูคริสต์และตัวอย่างของคริสตจักรเริ่มแรก  ทุกคนที่กลับใจเชื่อและรับเอาพระเยซูไว้เป็นพระผู้ช่วยให้รอดควรจะรับบัพติศมา  (มธ. 28:19-20;  กจ. 2:38, 41; 10:48 ดู บัพติศมา)  ความเชื่อของเขาทำให้เขาเป็น อวัยวะของพระกายของพระเยซูคริสต์  คือเป็นสมาชิกของคริสตจักรสากล  เมื่อเข้าไปร่วมกับพวกคริสเตียนในท้องถิ่นนั้น  ก็เป็นสมาชิกของคริสตจักรประจำท้องถิ่นที่นั้น (กจ. 2:41)

          พระคัมภีร์ไม่มีคำสั่งว่า  คริสตจักรจะต้องประชุมที่ไหน   สมัยพระคัมภีร์เขาประชุมกันที่บ้านของสมาชิกคนหนึ่ง  หรือที่อื่นก็ได้แล้วแต่สะดวก (กจ. 12:12; 19:9; 20:7-8; รม. 16:5, 14, 23; คส. 4:15)  การประชุมของคริสตจักรควรจะเรียบร้อย   แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือ  ควรทำให้ทุกคนจำเริญขึ้นฝ่ายวิญญาณ (1 คร. 14:26, 40)  การงานของคริสตจักรที่พระเจ้าจัดไว้เพื่อช่วยบรรดาคริสเตียนให้เติบโตขึ้นคือ  การสั่งสอนพระวจนะ  การร่วมสามัคคีธรรม  การนมัสการพระเจ้า  การร้องเพลงสรรเสสริญ  การอธิษฐานและการปฎิบัติศีลระลึกหรือที่เรียกว่าศีลมหาสนิท (กจ. 2:42; 20:7; 27, 1 คร. 11:23-33; 14:15 ดู ศีลระลึก)

          เป็นหน้าที่ของคริสเตียนที่จะนำข่าวประเสริฐไปประกาศแก่ชาวโลกที่ยังไม่เชื่อ  พอคนกลับใจเชื่อก็ควรนำให้เขารับบัพติศมา  และอบรมในคริสตจักรให้เขาได้เติบโตขึ้นในฝ่ายจิตวิญญาณ  จนเป็นสาวกที่แท้จริงของพระคริสต์ (มธ. 28:19-20; กจ. 1:7-8; 8:4; รม. 10:14-17 ดู ของประทานของพระวิญญาณ)

Church Design @ Bidar, Karnataka | homify         

 

การดำเนินงานของคริสตจักร

          พระคัมภีร์ได้กล่าวถึงหน้าที่ต่าง ๆ ของคริสตจักรไว้อย่างชัดเจน  แต่ไม่ค่อยได้กล่าวถึงรายละเอียดการปฎิบัติหน้าที่เหล่านั้น  ไว้มากนัก  พระคัมภีร์ได้วางหลักเอาไว้  แต่การปฎิบัติย่อมจะแตกต่างกันตามยุคสมัยและสังคม  ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า  ในคริสตจักรไม่มีการจัดระเบียบของคริสตจักรเลย  พระเจ้าทรงสั่งให้แต่งตั้งผู้ปกครองเป็นผู้นำของคริสตจักร  เพื่อจะดูแลรักษาและสอนเหล่าสมาชิกให้เติบโตขึ้น  แล้วก็ยังมีกลุ่มหนึ่งที่จะดำเนินงานทั่ว ๆ ไป  คือพวกมัคนายก (ดู  ผู้ปกครองคริสตจักรมัคนายก)

          ผู้ที่เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้นำของคริสตจักรดังกล่าวนี้  อาจมีความสามารถต่าง ๆ ที่พระเจ้าประทานให้  เพื่อคริสตจักรจะได้มีชีวิตที่สมบูรณ์รอบคอบ  คนที่พระเจ้าประทานให้คริสตจักรเหล่านี้คือ   อัครทูต  ผู้เผยพระวจนะ  ผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ  ศิษยาภิบาลและอาจารย์  (อฟ. 4:11)  ในกลุ่มคนเหล่านี้ถ้าหากคนหนึ่งคนใดประจำอยู่ที่เมืองไหน  เขาย่อมร่วมอยู่ในการปกครองคริสตจักรที่นั่น

          พวกอัครทูตและพวกผู้เผยพระวจนะ  (บางทีเรียกว่าศาสดาพยากรณ์)   ดูเหมือนว่า  พระเจ้าประทานให้คริสตจักรสมัยเริ่มแรกโดยเฉพาะ (ดู  อัครทูต  ผู้เผยพระวจนะ)  ส่วนผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ ถึงแม้ว่าคริสเตียนทุกคนต้องประกาศข่าวประเสริฐต่อคนอื่น ๆ แต่ก็ยังมีบางคนที่มีพระพรพิเศษในเรื่องนี้  (กจ. 21:8; 2 ทธ. 4:5 ดู ผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ)  ทำนองเดียวกันคริสเตียนทุกคนควรเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน  สอนพระคัมภีร์ให้กันและกัน  แต่ยังมีบางคนที่มีความสามารถพิเศษในเรื่องนี้ด้วยที่พระคัมภีร์เรียกว่าศิษยาภิบาลและอาจารย์  คำว่า  ศิษยาภิบาลตรงกับคำว่า ผู้ดูแลรักษาฝูงแกะหรือคนเลี้ยงแกะของพระเจ้า (ยน. 21:15-17; 1 ปต. 5:2; กจ. 20:28 ดู ศิษยาภิบาล)  ส่วนอาจารย์เป็นคนที่พระเจ้าอวยพระพรเกี่ยวกับการเข้าใจและการสอนพระคัมภีร์ (1 ทธ. 5:17 ดูอาจารย์)

          เราไม่ควรคิดว่าคนประเภทต่าง ๆ ดังกล่าวนี้จะรับหน้าที่เฉพาะเพียงอย่างเดียวเท่านั้น  คนอาจได้รัยพระพรจากพระเจ้าหลายอย่างเช่น  เขาอาจเป็นทั้งอัครทูต  ผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ  และศิษยาภิบาลก็ได้  ตัวอย่างคนที่ได้รับพระพรจากพระเจ้าหลายด้านได้แก่เปาโล  (รม. 15:20; 1 ทธ. 1:1; 2:7) ยากอบ (กท.1:19; 2:9-10)

ทิโมธี (1 ทธ. 4:13-16; 2ทธ. 4:5) บารนาบัส (กจ. 11:22-26; 14:14 ) สิลาส (กจ. 15:32; 17:10-14) เป็นต้น

 

ความรับผิดชอบของสมาชิกคริสตจักร

          ถึงแม้ว่าอัครทูต  ผู้เผยพระวจนะ ผู้เผยแพร่ข่าวประเสริฐ  ศิษยาภิบาล  และอาจารย์เป็นคนที่พระเจ้าประทานให้คริสตจักร  แต่ไม่ใช่หน้าที่ของคนเหล่านี้ที่จะทำงานของคริสตจักรทุกอย่าง  ตรงกันข้ามหน้าที่ของเขาคือ สอนคนอื่นให้ทำงานด้วย  ในเอเฟซัส 4:11-13 สอนว่า  พระเจ้าประทานคนเหล่านี้เพื่อจะช่วยสมาชิกให้เขาสามารถปฏิบัติงาน  เพื่อคริสตจักรจะเจริญขึ้น  หรือจะพูดอีกนัยหนึ่งว่า เขาสอนคนอื่นให้สามารถสอนคนอื่น ๆ ได้ด้วย (2 ทธ. 2:2)

          คริสเตียนทุกคนมีความสามารถที่พระเจ้าประทานให้ความสามารถเหล่านี้พระคัมภีร์เรียกว่าของประทานฝ่ายวิญญาณ  ซึ่งมีหลายอย่างนอกเหนือจากที่กล่าวไว้ในเอเฟซัส 4:11 พระวิญญาณบริสุทธิ์ทรงประทานของประทานของพระองค์ตามชอบพระทัยของพระองค์ (1 คร. 12:1; 11:18)  ร่างกายของเราประกอบด้วยอวัยวะทุกส่วนซึ่งมีหน้าที่คนละอย่างฉันใด  คริสตจักรของพระองค์ก็ประกอบด้วยสมาชิกที่มีความสามารถคนละอย่างฉันนั้น (รม. 12:4-8; 1 คร. 12:12, 27)  ของประทานของพระวิญญาณนั้นมีหลายอย่างแต่ถ้าคริสเตียนจะปฏิบัติหน้าที่นั้นให้ถูกต้อง  ก็ต้องทำตามที่พระคัมภีร์สอนไว้ (1 คร. 12:4-11)

          ถ้าคริสตจักรจะดำเนินกิจการของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์  สมาชิกทุกคนก็ต้องพิจารณาดูว่า  พระเจ้าประทานอะไรให้เขา  แล้วก็อุทิศตัวปรนนิบัติหน้าที่นั้นอย่างเต็มความสามารถ (1 ทธ. 4:14-16; รม. 12:6-8)  บรรดาคริสเตียนควรเข้าใจว่า  ในคริสตจักรต่างคนต่างมีหน้าที่ไปคนละอย่าง  เหมือนอวัยวะของร่างกาย  เขาจึงไม่อิจฉากัน  ไม่เย่อหยิ่ง  ไม่ดูถูกกัน  ไม่ถือตัว  ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วคริสตจักรก็จะเจริญเติบโตขึ้น  โดยที่สมาชิกร่วมเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน  ในการถวายเกียรติแด่พระเจ้า (1 คร. 12:14-30)

          คริสตจักรเป็นภาพอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นพระวิหารที่พระเจ้าทรงสถิตอยู่  พวกอัครทูต  และพวกผู้เผยพระวจนะสมัยเริ่มแรกเปรียบเหมือนกับรากฐาน  คริสเตียนทั้งหลายเป็นเหมือนตึก  และทุกชิ้นส่วนต่อเชื่อมกันอย่างสนิทในพระเยซูคริสต์ (อฟ. 2:20-22; 1 ปต. 2:4-5)

          ในเมื่อคริสตจักรเป็นที่ประทับของพระเจ้า  จึงจำเป็นที่พวกคริสเตียนต้องรักษาคริสตจักรให้บริสุทธิ์ (2 คร.6:16)  เพราะฉะนั้นคนที่ประพฤติผิดหรือสอนผิดจะต้องได้รับการตักเตือน  มิใช่เพื่อประโยชน์ของเขาเท่านั้น  แต่เพื่อประโยชน์ของคริสตจักรด้วย  เกรงว่าคนอื่น ๆ จะพลอยผิดไปด้วย (1 คร. 5:7; 2 ธส. 3:14-15; 1 ทธ. 1:3-7; 5:19-20; ทต. 1:10-13; 3:10; ฮบ. 12:15)

          คริสตจักรต้องจัดการกับผู้กระทำความผิด  แต่ก็ควรทำในทำนองว่าจะนำผู้ผิดให้ตระหนักถึงความผิดของตน  ไม่ควรจัดการกับผู้ผิดด้วยความรุนแรงโดยปราศจากความรัก  เพราะจะทำให้เขายิ่งห่างจากพระเจ้าไปอีก (2 คร.2:5-11; กท. 6:1)  น่าเสียใจผู้กระทำผิดบางคนอาจดื้อรั้น  ไม่ยอมทิ้งการชั่วของเขา  จนในที่สุดคริสตจักรทำอะไรไม่ได้นอกจากต้องให้เขาออกจากคริสตจักร  การลงโทษหนักแบบนี้อาจจะกระทำให้เขากลับใจ  และสารภาพความผิดบาป (มธ. 18:15-17; 1 คร. 5:1-5, 11-13; 1 ทธ. 1:19-20)

 Establish Your Gospel Legacy - Life Institute

คริสเตียน  CHRISTIAN

          ชื่อคริสเตียนนั้น  ชาวเมืองอันทิโอก ในแคว้นซีเรียได้เรียกชื่อนี้เป็นครั้งแรก  ภาษาที่ใช้พูดในอันทิโอกเป็นภาษากรีก  และผู้เชื่อในเมืองนั้นพูดถึงพระเมสสิยาห์ว่าพระคริสต์  (คริสต์เป็นคำในภาษากรีกซึ่งตรงกับคำในภาษาฮีบรู  ว่าเมสสิยาห์  ความหมายของคำนี้โปรดดู  พระเมสสิยาห์)

          สำหรับคนที่ไม่ใช่ยิวและไม่เชื่อพระะเยซู  คำว่า  คริสต์ (เมสสิยาห์)  ไม่มีความหมาย  เป็นเพียงแต่ชื่อของคนเท่านั้น  และผู้ที่ติดตามเป็นศิษย์ของผู้นั้น   พวกเขาเรียกกันว่าพวกคริสต์  หรือคริสเตียน  บางทีเรียกชื่อนี้ในทำนองเยาะเย้ย  ล้อเลียน  (กจ. 26:28)  แต่ก็เป็นชื่อที่เหมาะสมมากทีเดียว  เพราะแสดงให้เห็นว่า  หัวใจของศาสนาคริสเตียนนั้นอยู่ในองค์พระเยซูคริสต์  (ฟป. 1:21) ต่อมาภายใต้การปกครองของจักรพรรดิโรมองค์หลัง พวกที่ได้ชื่อว่าคริสเตียนจะได้รับการข่มเหงอย่างรุนแรง ( 1 ปต. 4:16)

 

No comments:

Post a Comment