เกษตรกรรม AGRICULTURE
เพราะเหตุว่าชาวอิสราเอลส่วนมากมีอาชีพเป็นชาวไร่ชาวนา พวกเขาจึงใช้หลักในการบอกเวลาตามฤดูกาลเกษตรมากว่า ใช้ชื่อเดือนต่อไปนี้เป็นตารางปฏิทินสิบสองเดือนของเรา เปรียบเทียบฤดูต่าง ๆ ของปีในปาเลสไตน์
เดือน |
สภาพดินฟ้าอากาศ |
วาระการเกษตร |
มกราคม |
หนาว มีฝน |
หว่าน |
กุมภาพันธ์ |
ค่อนข้างหนาว มีฝน |
|
มีนาคม |
ค่อนข้างร้อน มีฝน |
เก็บผลไม้พวกส้ม |
เมษายน |
ค่อนข้างร้อน แล้ง |
เกี่ยวข้าวสาลี |
พฤษภาคม |
ร้อน แล้ง |
เกี่ยวข้าวสาลี |
มิถุนายน |
ค่อนข้างร้อน แล้ง |
มะเดื่อต้นฤดู |
กรกฎาคม |
ค่อนข้างร้อน แล้ง |
เก็บองุ่น |
สิงหาคม |
ค่อนข้างร้อน แล้ง |
เก็บมะกอกเทศ |
กันยายน |
ค่อนข้างร้อน แล้ง |
เก็บผลไม้ฤดูร้อนอื่น ๆ |
ตุลาคม |
ค่อนข้างหนาว มีฝน |
ไถ |
พฤศจิกายน |
ค่อนข้างหนาว มีฝน |
มะเดื่อฤดูหนาว |
ธันวาคม |
ค่อนข้างหนาว มีฝน |
หว่าน |
ไถและหว่าน
พื้นที่ของเจ้าของที่ดินไม่มีรั้วกั้นแบ่งเขต แต่มีหลักเสาหินปักไว้เป็นเครื่องหมายเรียกว่า เสาเขต (ฉธบ. 19:14) ก่อนที่ชาวไร่ชาวนาจะใช้พื้นที่ทำการเพาะปลูกพวกเขาจำต้องขุดเอาหินเป็นจำนวนมากทั้งหมดขึ้นมาก่อนหินบางส่วนเหล่านี้พวกเขานำมาใช้เป็นหลักปักเสาเขต (อสย. 5:2) หินอื่นนอกจากนี้ก็ใช้ก่อเป็นกำแพงทำเป็นคอกสัตว์และทำเป็นกำแพงล้อมรอบสวนองุ่นบ้าง บางครั้งพวกเขาใช้ปลูกต้นไม้เตี้ย ๆ ไว้รอบ ๆ สวนองุ่น เพื่อทำเป็นรั้ว แทนที่จะใช้หินทำกำแพง (กดว. 22:24; อสย. 5 :5 มธ. 21:33)
ตามธรรมดาชาวนาใช้วัวไถนา และใช้เครื่องมือสำหรับกระตุ้นสัตว์เรียกว่าประตัก (1 พกษ. 19:19; วนฉ. 3:31; ฉธบ.22:10) ในพื้นที่ชนบทที่เป็นเนินผาก็จำเป็นต้องใช้มือขุดโดยใช้จอบเป็นเครื่องมือ (อสย. 7:25) สมัยก่อนโน้นไถทำด้วยไม้ แต่ในสมัยต่อมาทำด้วยเหล็ก (1 ซมอ. 13:20)
ชาวอิสราเอลอาศัยน้ำฝนทำการเพาะปลูกเพื่อให้พืชพันธุ์ของพวกเขาเกิดผลเหมือนกับชาวไร่ชาวนาทั่ว ๆ ไป หลังจากฤดูแล้งผ่านไป และการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งหมดทั้งสิ้นสุดลงไปแล้วชาวไร่ชาวนาก็รอฝนใหม่ซึ่งกำลังจะตกลงมา ตอนนี้พื้นดินแข็งแกร่งแห้งผาก จำเป็นต้องไถเพื่อเตรียมการหว่านพืชใหม่ลงไป (อพย. 34:21; ยรม. 4:3) ฝนซึ่งตกลงมาครั้งแรก ๆ เป็นสัญญาณให้ทราบว่าฤดูฝนกำลังมาถึงแล้วเรียกว่า ฝนต้นฤดู (ฉธบ. 11:14; ยรม. 5:24; ยอล.2:23) ฝนต้นฤดูนี้มีประโยชน์และจำเป็นมากเพราะชาวไร่ชาวนาอาศัยฝนนี้หว่านนา (ปฐก. 26:12; มธ. 13:3 ) ฝนตกเป็นประจำตลอดฤดูหนาวช่วยให้พืชพันธุ์เจริญเติบโต ฝนที่พวกเขาต้องการมากที่สุดก็คือฝนชุกปลายฤดูซึ่งทำให้เมล็ดข้าวสุกเร็วและรวงโตเต็มที่ก่อนจะถึงฤดูแล้ง (ฉธบ. 11:14; สภษ.16:15 ; ยรม.3:3; 5:24; ยอล.2:23; ศคย.10:1) ตลอดฤดูร้อนต่อจากนั้นมาชาวไร่ชาวนาอาศัยน้ำค้างแทนน้ำฝน (1 พกษ. 17:1 ; อสย.18:4; ศคย. 8:12 ) โปรดดู อากาศ ด้วย
เก็บเกี่ยวพวกข้าว
ข้าวที่สุกเก็บเกี่ยวได้ก่อนคือข้าวบารลี (ลนต. 23:10; นธ. 1:22; 2 ซมอ. 21:9) ต่อมาก็เก็บข้าวสาลี (ลนต. 23:16, 17; วนฉ. 15:1) การเก็บเกี่ยวนี้ชาวไร่ชาวนาจะไม่เก็บเกี่ยวตลอดถึงชายเขตไร่ของพวกเขา และเมื่อเก็บเกี่ยวไปเที่ยวแรกแล้วจะไม่กลับไปเก็บอีก ไม่ว่าจะเก็บข้าวที่ตกหรืออะไรก็ตาม พวกเขาต้องปล่อยทิ้งไว้ให้คนยากจนเก็บไปกิน (ลนต. 19:9; ฉธบ.24:19; นรธ. 2:2-7:10)
เครื่องมือที่ใช้เก็บเกี่ยวคือเคียว (ฉธบ. 16:9; มก.4:29) ต้นข้าวถูกมัดรวมกันเรียกว่า ฟ่อนข้าว (ปฐก. 37:7; ฉธบ. 24:19) และพวกเขาก็นำฟ่อนข้าวเหล่านี้บรรทุกบนหลังลาหรือใส่เกวียนไปที่ลานนวด (นหม. 13:15;อมส. 2:13; มีคา 4:12) พวกเขาปล่อยให้วัวที่นวดข้าวกินข้าวจากกองข้าวที่มันนวดนั้นได้ตามสบาย (กดว. 18:27; 1 ซมอ. 23:1; 1 พศด. 9:9) การนวดข้าวอีกวิธีหนึ่งพวกเขาใช้ไม้ท่อนใหญ่หรือท่อนโลหะเรียกว่า เลื่อนสำหรับนวดข้าว เอาข้าวที่เก็บเกี่ยวมากองสุมกันไว้ แล้วใช้เลื่อนนวดลงไป (1 พศด. 21:23; อมส. 1:3)
ครั้นเมื่อนวดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ใช้พลั่วตักซัดขึ้นไปบนอากาศเพื่อให้แกลบกระจายออกไปตามสายลม ส่วนเมล็ดที่ใช้ได้จะตกลงมากองบนพื้นดิน การซัดข้าวนี้มักทำกันในเวลาเย็นเมื่อมีลมโชยมาอ่อน ๆ (นรธ. 3:2; อสย.30:24; มธ. 3:12) ต่อจากนั้นก็นำข้าวที่ซัดไว้แล้วใส่ตะแกรงฝัดเพื่อให้เศษผงเล็ก ๆน้อย ๆ ออกไปให้หมด ก่อนที่จะบรรจุลงกระสอบหรือตะกร้า พร้อมที่จะเก็บไว้เป็นอาหาร (อมส. 9:9; ลก. 22:31) เศษผงสิ่งสกปรกหรือฟางที่ไม่มีประโยชน์ก็จะถูกนำเอาไปเผาไฟ ส่วนฟางที่ดีก็จะนำเอาไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์ (วนฉ. 19:19; 1 พกษ. 4:28; มธ. 3:12)
เก็บพวกผลไม้
ในระหว่างเดือนที่เก็บเกี่ยว นวด ฝัด และนำเอาพืชพันธุ์ธัญญาหารเข้าไปในยุ้งฉาง ผลไม้กำลังเริ่มจะสุกไปตาม ๆ กัน ผลไม้ที่สุกก่อนคือผลมะเดื่อ ซึ่งจะออกลูกต่อไปเรื่อย ๆ ประมาณสิบเดือน (กดว. 13:20; โปรดดู มะเดื่อ) ต่อจากนั้นก็เก็บองุ่น พวกชาวสวนองุ่นก็ปฎิบัติตามเช่นเดียวกับชาวนาข้าว เมื่อพวกเขาเก็บองุ่นในเที่ยวแรกแล้วถึงแม้อาจทำตกหรือหลงเหลืออยู่ พวกเขาจะไม่เข้าไปเก็บเที่ยวที่สองอีก แต่จะปล่อยทิ้งไว้ให้คนยากจนอนาถากิน (ลนต. 19:10) องุ่นใช้กินได้ทั้งสด ๆ และที่ตากแดดแห้ง หรือใช้คั้นเอาน้ำทำเป็นองุ่นชนิดต่างๆ กัน (กดว. 6:3; 1 ซมอ. 25:18, โปรดดู องุ่นด้วย)
ต่อจากฤดูองุ่นก็เป็นฤดูมะกอกเทศ วิธีเก็บมะกอกเทศพวกเขาใช้วิธีเขย่าต้นหรือเอาไม้ฝาด เพื่อให้ลูกมันหล่นลงมาแล้วเขาก็เก็บใส่ตะกร้า (ฉธบ. 24:20; อสย. 17:6; อมส. 8:2; โปรดดู มะกอกเทศ) ฤดูสุดท้ายเป็นฤดูเก็บผลอินทผลัม และเป็นเวลาเก็บผลไม้ฤดูร้อนชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งแสดงให้รู้ว่าเป็นปลายฤดูเกษตรซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว (อมส. 8:1)
ในเวลานั้นประชาชนจะเก็บรวบรวมอาหารไว้ เพื่อใช้รับประทานในฤดูหนาวซึ่งกำลังจะมาถึง ในระหว่างฤดูหนาวเหล่านั้นจะมีฝนตกลงมาด้วยชาวไร่ชาวนาเริ่มเตรียมการเพื่อปฎิบัติภารกิจประจำปีในรอบต่อ ๆ ไป เทศกาลประจำปีที่สำคัญของชาวอิสราเอลสัมพันธ์กับการครบรอบของการเกษตร ดู เทศกาล รายละเอียดผลไม้อื่น ๆ และผักต่าง ๆ ที่ชาวอิสราเอลเพาะปลูก ดู อาหาร ฝูงสัตว์
เมื่อชาวอิสราเอลได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในคานาอันแล้ว พวกเขาจึงกลายเป็นชาวนาปลูกข้าว และชาวสวนชาวไร่ปลูกต้นไม้รับประทานผล เมื่อก่อนนั้นพวกเขาส่วนมากเป็นคนเลี้ยงสัตว์ บรรพบุรุษดั้งเดิมของพวกเขา อับราฮัม อิสอัค และยาโคบ นำฝูงสัตว์เที่ยวเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ อยู่เสมอ (ปฐก. 47:1-6) เมื่อพวกเขาออกจากประเทศอียิบต์ก็ได้นำเอาสัตว์เท่าที่สามารถนำเอามาได้ เพื่อจะสร้างชีวิตใหม่ในคานาอัน (อพย. 12:38; ฉธบ. 8:11-14)
ครั้งแรกที่ชาวอิสราเอลเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในแผ่นดินใหม่ พวกเขาก็ยังดำเนินงานการเลี้ยงสัตว์กันต่อไป แผ่นดินแห่งหนึ่งที่พวกเขาอาศัยอยู่นี้ เป็นที่ราบเต็มไปด้วยหญ้าเหมาะในการเลี้ยงสัตว์มาก อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน เรียกว่าบาชานและกิเลอาด (กดว. 32:1, 26, 36, ฉธบ. 32:14; สดด.22:12; มีคา 7:14) ส่วนพืชพันธุ์ธัญญาหารและต้นไม้มีผลรับประทานได้ มีอยู่ในภาคที่มีภูเขามากในคานาอัน คือเขตแดนระหว่างแม่น้ำจอร์แดนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ฉธบ. 8:3; 2พศด. 26:10)
สัตว์เหล่านี้โดยทั่วไปแล้วไม่ได้เลี้ยงไว้กินเนื้อ แต่เลี้ยงไว้เพื่อใช้งานและเพื่อผลประโยชน์ทางอื่น ชาวอิสราเอลไม่ได้กินเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อวัว เนื้อควาย เนื้อแพะ และเนื้อแกะมาก พวกเขาจะกินก็ต่อเมื่อได้นำเอาไปทำพิธีถวายบูชาทางศาสนาหรือในโอกาสงานเลี้ยงพิเศษ (ปฐก. 18:7; 27:9; ลนต. 9:15; 1 ซมอ.25:18; 28:24; ลก.15:23, 29) วัว ควายที่เลี้ยงไว้ส่วนมากดูเหมือนว่า ชาวอิสราเอลต้องการเอานมของมันมาเป็นอาหารหลัก ประจำวันของพวกเขา (ปฐก. 8:7,8; 2 ซมอ. 17:29; อสย. 7:22) แกะที่พวกเขาเลี้ยงไว้ก็เพื่อเอาขนของมันมาทำเสื้อผ้า (ลนต.13:47 สภษ. 27:26) โปรดดู แกะ แพะสามารถอาศัยอยู่ตามชนบทที่แห้งแล้งได้ดีกว่าแกะและวัวควาย
ทั้งแพะและแกะเหล่านี้ ชาวอิสราเอลเลี้ยงไว้เพื่อเอานมมาเป็นอาหาร และเอาขนของมันมาถักเป็นเสื้อผ้า (อพย. 26:7; 1 ซมอ. 19:13; สภษ. 27:27)
คนเลี้ยงสัตว์ตามปกติเป็นคนอดทนบึกบึน เพราะต้องต่อสู้ความยากลำบากนานาประการ ต้องผจญกับความแห้งแล้ง ขาดน้ำ ความร้อน ความหนาว และอันตรายจากขโมย และสัตว์ป่าที่ดุร้าย (ปฐก. 26:17-22; 31:39, 40; อมส. 3:12; ยน. 10:10 , โปรดดู ผู้เลี้ยงแกะ)
ความยากลำบากของชาวนา
แน่นอนทีเดียวศัตรูตัวสำคัญที่สุดของชาวไร่ชาวนาก็คือ ความแห้งแล้งกันดารขาดน้ำ (1 พกษ.17:7; อมส. 4:7; ฮกก. 1:11) พวกเขาต้องได้รับความเดือดร้อนจากฝูงตั๊กแตนลูกเห็บ โรคที่ทำลายพืชพันธุ์และลมร้อนซึ่งพัดมาจากทะเลทราย ซึ่งนำเอาความร้อนมาเผาผลาญพืชผลของพวกเขาหมด (อสย.27:8; ยรม. 4:11; ฮชย.13:15; ยอล.1:4; อมส. 4:9; ฮกก. 2:17; ลก.12:55)
นอกจากนี้แล้ว พวกชาวนายังถูกพ่อค้าที่มั่งมีและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกดขี่ข่มเหง ขูดเลือดด้วยวิธีต่างๆ นานา เนื่องจากเหตุนี้พวกเขาจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ต้องตกอยู่ในสภาพยากจนข้นแค้นแสนสาหัส แม้กระทั่งบ้านและที่ดินของพวกเขาก็ต้องถูกพวกเหล่านั้น ยึดเอาไปแทนหนี้สินท่วมตัวที่พวกเขาหมดปัญญาจะหามาใช้คืนได้ (อมส. 5:11; 8:4-6; มคา. 2:1-2) แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ปฎิบัติตามพระบัญญัติที่พระเจ้ามอบไว้ให้ป้องกันชีวิตการเกษตรของอิสราเอล จึงเป็นผลให้แผ่นดินไม่อำนวยพระพรตามที่พระองค์ได้ทรงประสงค์ไว้ (ฉธบ. 28:1-35) โปรดดู หนี้สิน ปีเสียง เขาสัตว์ ปีสะบาโต ด้วย
No comments:
Post a Comment