กรีก (Greece)
อำนาจปกครองของประเทศกรีก
ประเทศกรีกภายใต้การนำของอเล็กซานเดอร์ มหาราชเรืองอำนาจอย่างรวดเร็วที่สุด ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี อเล็กซานเดอร์ชนะเปอร์เซียและกรีกกลายเป็นประเทศที่เข้มแข็งที่สุดในโลก (สมัยก่อน ค.ศ. 333) กรีกจึงแผ่อำนาจไปครอบครองทุกประเทศตั้งแต่ประเทศกรีกทางตะวันตก ถึงประเทศอินเดียทางตะวันออก วัฒนธรรมของกรีกแพร่สะพัดไปทั่วเขตนั้น และภาษากรีกได้กลายเป็นเป็นภาษาที่พูดกันทั่วจักรวรรดิศิลปะและปรัชญาของกรีกมีอิทธิพลมากในสมัยต่อมา ทำให้ความคิด และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวโลกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีผลตกทอดต่อมาจนถึงสมัยปัจจุบัน (1 คร.1:20 -22)
ชาวกรีกช่วยประชาชนที่เขาปกครองทุกด้าน ไม่ว่าด้านการศึกษา ด้านมหรสพ ด้านกีฬา หรือด้านสาธารณสุข ทำให้อารยธรรมแบบกรีกขึ้นสู่ขีดสุดยอด คนที่มีชีวิตความเป็นอยู่ตามแบบกรีกนั้นถือว่าเป็นคนอารยะ ส่วนคนอื่นถือว่าเป็นอนารยชน (รม.1:14) ไม่ช้าอเล็กซานเดอร์ได้สิ้นชีวิตลง อาณาจักรกรีกแตกแยกออกไปเป็นส่วน ๆ (ดนล.11:2-4) และต่อมาถึงสมัยก่อน ค.ศ. 301 มีสามเขตใหญ่ ทางตะวันตกมีเขตหนึ่งซึ่งประเทศกรีกเองเป็นศูนย์กลางการปกครอง ทางตะวันออกมีสองเขตคือ ซีเรียทางเหนือและอียิปต์ทางใต้ ตอนแรกปาเลสไตน์ตกอยู่ในเขตของอียิปต์ และไม่ค่อยได้รับความเดือดร้อน เวลานั้นมีพวกชาวยิว 70 คนที่แปลพระคัมภีร์เป็นภาษากรีก เพราะแม้แต่ชาวยิวก็พูดภาษากรีกได้เป็นส่วนใหญ่ ในสมัยพระคัมภีร์ใหม่คริสเตียนใช้พระคัมภีร์ทั้งสองฉบับคือ ฉบับแปลภาษาฮีบรู และฉบับภาษากรีก
กษัตริย์ชาวกรีกที่ปกครองเขตอียิปต์รุ่นต่อมากดขี่ชาวยิวมากขึ้น เมื่ออาณาจักรอียิปต์พ่ายแพ้อาณาจักรซีเรียสมัย ก่อน ค.ศ. 198 อิสราเอลตกอยู่ในการปกครองของซีเรีย (ดนล.11:14-16) กษัตริย์ชาวกรีกที่ปกครองเขตซีเรียก็เคี่ยวเข็ญชาวยิวเช่นเดียวกัน นครหลวงของอาณาจักรซีเรียคือ เมืองอันทิโอก (กจ.11:20 ดู อันทิโอกในแคว้นซีเรีย) กษัตริย์เกือบทุกพระองค์ใช้พระนามว่าแอนติโอคุส
ความแปรปรวนในอิสราเอล
ประเทศปาเลสไตน์อยู่ใต้บังคับของประเทศกรีกร้อยกว่าปีแล้ว ธรรมเนียมของกรีกจึงแทรกเข้ามาในศาสนายิวบ้าง ชาวยิวที่หวงศาสนาของปู่ย่าตายายอย่างเคร่งครัด จึงต่อต้านคนที่นิยมวัฒนธรรมของกรีก ซึ่งเป็นเหตุให้มีข้อโต้แย้งกันเกิดขึ้นระหว่างชาวยิวด้วยกัน พวกที่ลำเอียงไปทางกรีกเป็นที่ชมชอบของพวกผู้ปกครองกรีก ทางกรีกจึงมักตั้งพวกนี้ในตำแหน่งสำคัญในศาสนายิว เช่นตั้งเป็นมหาปุโรหิต นายธรรมศาลา เป็นต้น
วันหนึ่งชาวยิวสองฝ่ายนี้ต่อสู้กัน จนเกิดมีการวุ่นวายบ้างเล็กน้อยในกรุงเยรูซาเล็ม กษัตริย์ของซีเรีย (แอนติโอคุสองค์ที่สี่เรียกว่า อีพิฟานีส) เข้าใจว่าเป็นการกบฏต่อพระองค์จึงนำกองทัพมารุกรานกรุงเยรูซาเล็ม ฆ่าฟันชาวยิวนับเป็นพัน ๆ คน ที่เหลือก็นำไปเป็นทาสรับใช้ เก็บหนังสือพระคัมภีร์เผาหมด บังคับให้ชาวยิวรับประทานอาหารซึ่งผิดธรรมบัญญัติของพวกเขา และห้ามชาวยิวทำพธีสุหนัตหรือหยุดพักงานในวันสะบาโต สิ่งที่ร้ายแรงกว่านี้ทั้งหมดคือ แอนติโอคุสได้ตั้งรูปเคารพของกรีกไว้ในพระวิหารของชาวยิวสร้างแท่นบูชาตามแบบศาสนากรีก แล้วก็เอาหมูซึ่งชาวยิวถือว่าเป็นสัตว์ที่สกปรกที่สุด มาทำการถวายบูชาบนแท่นนั้น ซึ่งเป็นการกระทำที่น่าสะอิดสะเอียนที่สุดสำหรับชาวยิว (ดนล.11:31) แต่แอนติโอคุสไม่ตระหนักว่า ไม่มีชาติหนึ่งชาติใดร้อนรนหรือหวงศาสนาของเขาเท่าชาวยิว เขาไม่อาจทนการหมิ่นประมาทอย่างนี้ต่อไปอีกแล้ว เขาจะไม่นิ่งดูดายเมื่อคนมุ่งจะทำลายศาสนาอันศักดิ์สิทธิ์ของเขา
พวกแมคคาบีต่อสู้พวกกรีก
มีปุโรหิตแก่คนหนึ่งชื่อ มัททาไทอัส (Mattathias) กับบุตรห้าคนของเขา หนีเอาตัวรอดไปอยู่ตามถ้ำแถบภูเขา หกคนนี้เรียกว่า พวกแมคคาบี เขาไปหาชาวยิวให้ช่วยกันฝึกทหาร ไปต่อสู้กับพวกนั้นที่ทำให้พระวิหารสกปรกเป็นมลทิน เขาต่อสู้รวมสามปีและในที่สุดชนะพวกแอนติโอคุสที่ยังครอบครองพระวิหารอยู่ เขากวาดล้างพวกปุโรหิตที่ขายชาติ แล้วก็ชำระพระวิหารถวายพระเจ้าใหม่ (ก่อน ค.ศ. 165) ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ชาวยิวเฉลิมฉลองวันยิ่งใหญ่นั้นทุกปี โดยร่วมเทศกาลฉลองพระวิหาร (ยน10:22)
พวกแมคคาบีเห็นว่า ไม่มีใครจะต้านทานเขาได้ เพราะเขาต่อสู้เพื่อความเชื่อและความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้า เขาจึงไปต่อสู้กับพวกผู้ปกครองกรีกเพื่อจะได้เป็นเอกราชทางการเมืองด้วย พวกเคร่งศาสนาที่เมื่อก่อนคัดค้านพวกชาวยิวที่อะลุ่มอล่วยต่อกรีกก็คัดค้านพวกแคคาบีเช่นกัน เขาบอกว่า พวกแมคคาบีไม่ควรจะยุ่งเกี่ยวกับการเมือง ชาวยิวมีอิสระทางศาสนาก็เพียงพอแล้ว พวกแมคคาบีไม่ยอมฟัง เขาทำสงครามกับพวกกรีกต่อไปตลอดยี่สิบปี ในที่สุดชาวยิวชนะและได้เป็นเอกราชอย่างเต็มที่ (ก่อน ค.ศ. 143)
ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่มีความสงบสุขระหว่างชาวยิวด้วยกัน สิ่งที่พวกเคร่งศาสนาวิตกกังวลก็เกิดเป็นจริงขึ้น พวกแมคคาบีเหลิงอำนาจ คนที่เขาแต่งตั้งเป็นมหาปุโรหิตและผู้ใหญ่ทางศาสนาเป็นคนมั่งมี มีอำนาจ ฝ่ายปกครอง เย่อหยิ่ง แต่ไม่เลื่อมใสในเรื่องศาสนา นี่เป็นการเริ่มต้นของพวกสะดูสี ส่วนพวกเคร่งครัดที่คัดค้านสะดูสีเรียกว่าพวกฟาริสีจำนวนของฟาริสีมากกว่าสะดูสี แต่เขาเป็นคนธรรมดาที่ไม่มีอำนาจ (รายละเอียดสองพรรคนี้ดูเพิ่มเติมในหัวข้อ สะดูสี และ ฟาริสี)
สมัยต่อ ๆ มาคนในเชื้อสายของแมคคาบีได้ครองตำแหน่งทั้งหมด ทั้งฝ่ายปกครองฝ่ายทหาร และฝ่ายศาสนา คือเป็นผู้ปกครองประเทศ เป็นผู้บัญชาการทหารและเป็นมหาปุโรหิต พวกนี้เป็นพวกสะดูสีทั้งสิ้น ต่อมาอีกหลายสิบปี มีพระราชินีองค์หนึ่งที่เข้าข้างพวกฟาริสี เมื่อพระองค์สวรรคตโอรสของพระองค์ตกลงกันไม่ได้ว่า ใครจะเป็นกษัตริย์องค์ต่อไป เวลานั้นประเทศโรมกำลังเจริญเข้มแข็ง มีกองทัพอยู่ใกล้ประเทศซีเรีย ทั้งสองฝ่ายไปขอร้องให้แม่ทัพโรมมาไกล่เกลี่ยข้อบาดหมางนี้ แม่ทัพจึงยกทัพเข้ามา และปกครองเสียเอง ประเทศยูเดียจึงเสียเอกราชไปและตกอยู่ในอำนาจของโรม (ก่อน ค.ศ. 63)
สมัยพระคัมภีร์ใหม่
เมื่อโรมครอบครองจักรวรรดิกรีก เขาก็นำเอาการศึกษาแบบกรีกและภาษากรีก กลับมาใช้ในจักรวรรดิโรม เป็นเหตุอย่างหนึ่งที่ศาสนาคริสเตียนแพร่หลายได้รวดเร็วเพราะมีภาษาที่ใช้พูดกันทุกประเทศ (กจ. 6:1 เรื่องคนที่เรียกว่าพวกนิยมกรีกโปรดดูเฮเลน) มิหนำซ้ำ ภาษากรีกเป็นภาษายอดนิยม ที่สามารถอธิบายความหมายที่ลึกซึ้งได้อย่างแจ่มแจ้ง เป็นการเหมาะที่ภาษากรีกเป็นภาษาของพระคัมภีร์ใหม่
สมัยพระเยซู ชาวกรีกบางคนสนใจคำสอนของพระองค์ (ยน.12:20) ต่อมามีชาวกรีกหลายคนที่กลับใจเสียใหม่ และเชื่อไว้วางใจในพระเยซูเจ้า จึงมีคริสตจักรเกิดขึ้นตามเมืองต่าง ๆ ของชาวกรีก (กจ. 14:1 , 17:1-4,10-12; 18:1-4 ดู โครินธ์ เธสะโลนิกา ฟิลิปปี มาซิโดเนีย อาคายา เอเธนธ์) บางทีชาวยิวใช้คำว่ากรีกหมายถึงคนต่างชาติทั่วไป (กท.3:28) แผนที่ของประเทศกรีกและประเทศอื่น ๆ สมัยพระคัมภีร์ใหม่อยู่ในหัวข้อ โรม
No comments:
Post a Comment