Saturday, September 7, 2019

อาณาจักรอยุธยา


อาณาจักรอยุธยา
    เมื่อสิ้นรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช  อาณาจักรสุโขทัยก็เสื่อมลง  พระมหากษัตริย์ที่สืบราชสมบัติต่อจากพ่อขุนรามคำแหง  คือ  พระยาเลยไทย (รัชกาลที่ 4)   และพระยางั่วนำถม (รัชกาลที่ 5)   ไม่สามารถรักษาอาณาจักรให้คงสภาพเดิมได้  บรรดาหัวเมืองและอาณาจักรที่เคยอยู่ในอำนาจต่างพากันแข็งเมืองตั้งตนเป็นอิสระ  ในจำนวนนี้มีเมืองสำคัญคือ  เมืองอู่ทอง
ใน  พ.ศ.  1890   ซึ่งเป็นปีที่พระมหาธรรมราชาที่ 1  (ลิไทย)   ขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 6   แห่งกรุงสุโขทัยนั้น  เมืองอู่ทองเกิดภัยธรรมชาติ  ลำน้ำจระเข้สามพันตื้นเขิน  เกิดขาดแคลนน้ำ  อหิวาตกโรคระบาดทำให้ผู้คนล้มตายเป็นอันมาก  เจ้าเมืองอู่ทองจึงอพยพผู้คนไปยังทำเลที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ (เชื่อว่าเป็นบริเวณที่เป็นวัดพุทธสวรรย์ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาปัจจุบัน)  ทรงสร้างพระราชวังขึ้นที่ริมหนองโสน (บึงพระราม)  แล้วประกาศสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ใน พ.ศ. 1893  และเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นกษัตริย์  ทรงพระนามว่า  สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1  (พระเจ้าอู่ทอง)   กรุงศรีอยุธยาเป็นทำเลที่มีพื้นที่อันมีสภาพทางภูมิศาสตร์ที่ถือกันว่าเหมาะ  คือ  มีแม่น้ำ  3  สาย  ไหลผ่าน  ได้แก่
แม่น้ำลพบุรี       ไหลจากทิศเหนือโอบอ้อมไปทางทิศตะวันตก
แม่น้ำเจ้าพระยา   ไหลผ่านทางทิศใต้
    แม่น้ำป่าสัก       ไหลผ่านทางทิศตะวันออก
  จึงทำให้ผืนแผ่นดินนี้มีลักษณะเป็นเกาะ  เป็นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเกษตร  สะดวกแก่การคมนาคมติดต่อกับต่างประเทศเพราะใกล้ทะเลเป็นชุมทางค้าขายที่สำคัญ  ทั้งยังมีความเหมาะสมในด้านยุทธศาสตร์  มีแม่น้ำล้อมรอบ  เป็นแนวป้องกันตามธรรมชาติได้อย่างดี  ยากที่ข้าศึกจะเข้าโจมตีหรือล้อมกรุงไว้ได้นาน  เพราะเมื่อถึงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะท่วมถึงบริเวณนี้โดยรอบอีกด้วย
การเมืองการปกครอง
สถาบันพระมหากษัตริย์
การปกครองของไทยในสมัยอยุธยา   เปลี่ยนแปลงต่างไปจากสุโขทัยเพราะได้รับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากเขมร (ขอม)  เข้ามามาก  โดยเฉพาะลัทธิเทวราช  ซึ่งเขมรรับมาจากอินเดียอีกทอดหนึ่ง  ลัทธินี้องค์พระมหากษัตริย์ทรงเป็นสมมุติเทพอยู่เหนือบุคคลสามัญ  ทรงมีพระราชอำนาจสูงสุด  ทรงไว้ซึ่งอาญาสิทธิ์เหนือผู้อื่นทั้งปวงในอาณาจักร คือ นอกจากจะทรงเป็นเจ้าของแผ่นดินแล้ว  ยังทรงเป็นเจ้าของชีวิตราษฎรอีกด้วย
                            พระมหากษัตริย์สมัยอยุธยา  จึงมีฐานะแตกต่างจากพระมหากษัตริย์สมัยสุโขทัยอย่างมาก  เช่น  การเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ต้องหมอบคลานแสดงความอ่อนน้อม  การพูดกับพระมหากษัตริย์ต้องใช้ราชาศัพท์  เมื่อเสด็จออกนอกพระราชวังราษฎรต้องหมอบกราบและก้มหน้า  มีกฎมณเฑียรบาลห้ามมองพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์  เนื่องจากพระองค์เป็นสมมุติเทพและเพื่อการป้องกันการทำร้ายพระองค์  สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างองค์พระมหากษัตริย์กั้บประชาชนห่างเหินกัน  ความใกล้ชิดแบบบิดาปกครองบุตรแบบสุโขทัยจึงน้อยลงทุกขณะ
      นอกจากนี้ยังมีระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับความปลอดภัยของพระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์อีก  เช่น  ให้ถือเขตพระบรมมหาราชวังเป็นเขตหวงห้ามสำหรับประชาชนสามัญ  มีการรักาความปลอดภัยเข้มงวด  มีนายประตูดูแลตลอดเวลา  มีมาตราป้อนกันมิให้เจ้าเมือง  ลูกขุน  ราชบุตร  ราชนัดดาติดต่อกัน  ต้องการให้แต่ละบุคคลแยกกันอยู่  เป็นการแยกกันเพื่อปกครอง  มิให้มีการรวมกันได้ง่าย  เพราะอาจคบคิดกันนำภัยมาสู่บ้านเมืองหรือราชบัลลังก์ได้
 การจัดการปกครองสมัยอยุธยาตอนต้น  พ.ศ. 1893 – 1991
     การจัดการปกครองสมัยอยุธยาตอนต้น  ตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1  (พระเจ้าอู่ทอง)  ถึงรัชกาลพระบรมราชาธิราชที่ 2  (เจ้าสามพระยา)  เป็นรูปแบบการปกครองที่ได้รับอิทธิพลจากเขมรและสุโขทัยในลักษณะต่อไปนี้
1. การปกครองส่วนกลาง      จัดการบริหารแบบจตุสดมภ์  หมายถึง  การที่พระมหากษัตริย์เป็นผู้ปกครองโดยตรง  ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นกรมสำคัญ  4  กรม 
ปฏิบัติหน้าที่ดังนี้
 กรมเวียง    หรือ  กรมเมือง    มีขุนเวียงเป็นหัวหน้า  ทำหน้าที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของราษฎรทั่วราชอาณาจักร
 กรมวัง    มีขุนวังเป็นหัวหน้าดูแลรักษาพระราชวัง  จัดงานพระราชพิธีต่างๆ และพิจารณาพิพากษาคดี
 กรมคลัง     มีขุนคลังเป็นหัวหน้า   รับผิดชอบด้านการเงินและการต่างประเทศทั่วราชอาณาจักร  ด้านการเงินทำหน้าที่เก็บภาษีอากร  ใช้จ่ายพระราชทรัพย์  จัดแต่งสำเภาหลวงออกค้าขาย ในด้านต่างประเทศทำสัญญาการค้าและติดต่อทางการทูตกับต่างประเทศ
  กรมนา     มีขุนนาเป็นหัวหน้า  ทำหน้าที่ดูแลเรือกสวนไร่นาทั่วราชอาณาจักร  และจัดเตรียมเสบียงอาหารให้เพียงพอในยามบ้านเมืองมีศึกสงคราม
2.การปกครองส่วนภูมิภาค     การจัดการปกครองส่วนภูมิภาค  จัดตามแบบอาณาจักรสุโขทัย  เพราะเมืองต่างๆ  ส่วนใหญ่เคยอยู่ใต้อำนาจของอาณาจักรสุโขทัยมาก่อน 
มีการแบ่งเมืองเป็นระดับชั้น  มีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลาง  เมืองต่างๆ จัดแบ่งออกดังนี้
เมืองหน้าด่าน  หรือ  เมืองป้อมปราการ    เป็นเมืองที่มีความสำคัญในการป้องกันราชธานี  ระยะทางไปมาระหว่างเมองหน้าด่านกับราชธานีใช้เวลาเดินทางภายใน  2  วัน  มักเป็นเมืองใหญ่หรือเมืองที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์  พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งพระราชโอรสหรือเจ้านายชั้นสูงไปปกครองบางที่จึงเรียกว่า เมืองลูกหลวง
 หัวเมืองชั้นใน     คือ  เมืองที่อยู่ถัดจากเมืองหน้าด่านออกไป  พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งเจ้านายหรือขุนนางไปปกครอง  ขึ้นตรงต่อเมืองหลวง
 หัวเมืองชั้นนอก  หรือ   เมืองพระยามหานคร     เป็นเมืองขนาดใหญ่  ที่มีประชาชนคนไทยอาศัย  อยู่ห่างจากราชธานี  ต้องใช้เวลาหลายวันในการติดต่อ  มีเจ้าเมืองปกครอง  อาจเป็นผู้สืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองเดิม  หรือเป็นผู้ที่ทางเมืองหลวงต่างตั้งไปปกครอง 
 เมืองประเทศราช     เป็นเมืองทีอ่ยู่ชายแดนของอาณาจักร   ชาวเมืองเป็นคนต่างชาติต่างภาษา  มีเจ้าเมืองเป็นคนท้องถิ่น  จัดการปกครองภายในของตนเอง  แต้องส่งเครื่องบรรณาการมาถวายตามกำหนด  ได้แก่  ยะโฮร์   เขมร  และเชียงใหม่ (ล้านนา)   
  การจัดการปกครองสมัยอยุธยาตอนกลาง  พ.ศ. 1991 – 2072
   เมื่อสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถขึ้นครองราชย์ (พ.ศ. 1991 – 2031)    พระองค์ทรงปรับปรุงระเบียบการปกครองใหม่  เพราะเห็นว่าการปกครองแบบเก่ายังหละหลวม  กรุงศรีอยุธยาควบคุมดูแลเมืองในส่วนภูมิภาคได้ไม่ทั่วถึง  บรรดาเมืองต่างๆ  เบียดบังรายได้จากภาษีอากรไว้  ทำให้ราชธานีได้รับผลประโยชน์ไม่เต็มที่  นอกจากนั้นในระยะที่มีการผลัดแผ่นดิน  หากกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงเข้มแข็ง  มีอำนาจ  ก็จะไม่มีปัญหาทางการปกครอง  แต่หากกษัตริย์พระองค์ใหม่ทรงอ่อนแอไม่เด็ดขาดหรือยังทรงพระเยาว์อยู่  บรรดาเมืองประเทศราชและเมืองพระยามหานคร  มักฉวยโอกาสแยกตนเป็นอิสระอยู่เสมอ  นอกจากนี้ยังมีปัญหาที่เกิดขึ้นเนื่องจากเมืองลูกหลวงหรือเมืองหน้าด่าน  เจ้าเมืองมีอำนาจมากและมักจะยกกำลังทหารทหารเข้ามาแย่งชิงราชสมบัติอยู่เนืองๆ และอาณาจักรอยุธยาในสมัยนี้มีอาณาเขตกว้างขวางมากกว่าเดิม  สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจึงต้องปรับปรุงการปกครองใหม่  มีลักษณะสำคัญสองประการ  คือ  จัดการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง  ทำให้ราชธานีมีอำนาจและมีการควบคุมเข้มงวดขึ้น  และแยกกิจการฝ่ายพลเรือนกับฝ่ายทหารออกจากกัน (เป็นครั้งแรก)  สาระสำคัญที่เปลี่ยนไปมีดังนี้
1. การปกครองส่วนกลาง       สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดให้มีตำแหน่งสมุหกลาโหมและสมุหนายก   สมุหกลาโหม  รับผิดชอบด้านการทหาร  มีหน้าที่บังคับบัญชา
ตรวจตราการทหาร  เกณฑ์ไพร่พลในยามมีศึก   ยามสงบรวบรวมผู้คน  อาวุธ    เตรียมพร้อม  สมุหนายก  ทำหน้าที่บังคับบัญชาข้าราชการฝ่ายพลเรือนทั่วราชอาณาจักรและดูแลจดุสดมภ์  พระองค์ได้ทรงกำหนดหน่วยงานระดับกรม  (เทียบได้กับกระทรวงในปัจจุบัน)  ขึ้นอีก  2  กรม  จึงมีหน่วยงานทางการปกครอง  6  กรม  กรมใหม่ที่จัดตั้งขึ้นมีเสนาบดีรับผิดชอบในหน้าที่  ดังนี้           
 กรมมหาดไทย      มีพระยาจักรีศรีองครักษ์เป็นสมุหนายก   มีฐานะเป็นอัตรมหาเสนาบดี  มีหน้าที่ควบคุมกิจการพลเรือนทั่วประแทศ
 กรมกลาโหม         มีพระยามหาเสนาเป็นสมุหพระกลาโหม   มีฐานะเป็นอัครมหาเสนาบดี  มีหน้าที่ควบคุมกิจการทหารทั่วประเทศ
 พร้อมกันนี้ได้ปรับปรุงกรมจตุสดมภ์เสียใหม่   ให้มีเสนาบดีรับผิดชอบงานในหน้าที่ของแต่ละกรม คือ

  กรมเมือง              มีพระนครบาลเป็นเสนาบดี
   กรมวัง                  มีพระธรรมาธิกรณ์เป็นเสนาบดี
   กรมคลัง               มีพระโกษาธิบดีเป็นเสนาบดี
    กรมนา                 มีพระเกษตราธิการเป็นเสนาบดี
2. การปกครองส่วนภูมิภาค        สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถโปรดฯ  ให้ยกเลิกเมืองหน้าด่านหรือเมืองลูกหลวง  ให้จัดการปกครองหัวเมืองในส่วนภูมิภาคดังนี้
หัวเมืองชั้นใน    จัดเป็นเมืองชั้นจัตวา  ผู้ปกครองเมืองเรียกว่า  “ผู้รั้ง”   ไม่มีอำนาจอย่างเจ้าเมือง  ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของราชธานี  เป็นเมืองที่ตั้งอยู่โดยรอบราชธานีธานี  เช่น  ชัยนาท  นครสวรรค์  สุพรรณบุรี  ปราจีนบุรี  ฉะเชิงเทรา  และชลบุรี  เป็นต้น   พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งขุนนางในกรุงศรีอยุธยาไปทำหน้าที่ผู้รั้งเมือง
  หัวเมืองชั้นนอก      ได้แก่  เมืองที่อยู่ถัดจากหัวเมืองชั้นในออกไป  (ซึ่งเป็นเมืองพระยามหานครในสมัยก่อน)   จัดเป็นหัวเมืองชั้นตรี  โท  เอก  ตามขนาดและความสำคัญของเมืองนั้นๆ  อาจมีเมืองเล็กขึ้นด้วยพระมหากษัตริย์ทารงแต่งตั้งเจ้านายในพระราชวงศ์หรือขุนนางผู้ใหญ่ออกไปปกครองเป็นเจ้าเมือง  มีอำนาจเต้มในการบริหารราชการภายในเมือง
 เมืองประเทศราช    โปรดฯ  ให้มีการจัดการปกครองเหมือนเดิม  คือ  ให้มีเจ้านายในท้องถิ่น  เป็นเจ้าเมือง  หรือกษัตริย์  มีแบบแผนขนบ๔รรมเนียมเป็นของตนเอง  พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นผู้ทรงแต่งตั้ง  เมืองประเทศราชมีหน้าที่ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายพระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยา
             การจัดการปกครองสมัยอยุธยาตอนปลาย  พ.ศ. 2072 – 2310
   การจัดการปกครองแบบรวมอำนาจเข้าสู่ส่วนกลางตามที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงวางรากฐานไว้คงใช้มาตลอด  แต่ได้มีการแก้ไขปรับปรุงให้เหมาะกับสภาพบ้านเมืองยิ่งขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์  (พ.ศ. 2199 – 2231)    ทรงให้ยกเลิกการแยกความรับผิดชอบของอัครมหาเสนาบดีเกี่ยวกับงานด้านพลเรือนของสมุหนายก  และงานด้านทหารของสมุหกลาโหม  โดยให้สมุหกลาโหมรับผิดชอบทั้งด้านทหารและพลเรือน  ปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือและหัวเมืองอีสาน  ส่วนหัวเมืองตอนกลาง  และหัวเมืองชายทะเลตะวันออก  ให้อยู่ในอำนาจของเมืองหลวงโดยตรง  ทั้งนี้ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่าการแยกกิจการฝ่ายทหารและฝ่ายทหารและฝ่ยพลเรือนจากกันอย่างเด็ดขาด  ไม่อาจทำได้อย่างได้ผลดี  โดยเฉพาะในยามสงคราม  บ้านเมืองต้องการกำลังพลในการสู้รบจำนวนมาก  ชายฉกรรจ์ต้องออกรบเพื่อชาติบ้านเมืองทุกคน  จึงเป็นการยากในทางปฏิบัติ  อีกประการหนึ่ง  มีบทเรียนที่แสดงให้เห็นว่า  เมื่อให้สมุหกลาโหมคุมกำลังทหารไว้มาก  ทำให้สามารถล้มราชวงศ์กษัตริย์ลงได้



ลักษณะสังคมในสมัยอยุธยา
สังคมในสมัยอยุธยาประกอบด้วย พระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ ไพร่ ทาส และพระสงฆ์ โดยมีอำนาจและหน้าที่ที่แตกต่างกันไป แบ่งได้เป็น 2 ชนชั้นใหญ่ๆ คือ
1.ชนชั้นปกครอง แบ่งออกได้เป็น
1.1 พระมหากษัตริย  ทรงดำรงตำแหน่งสูงสุดในสังคม มีอำนาจสูงสุด มีหน้าที่ปกครองดูแลพลเมืองให้อยู่ด้วยความสุขและความปลอดภัย ออกกฏหมายและพิจารณาตัดสินคดีความต่างๆ 

     ทรงดำรงฐานะเป็นสมมติเทพตามความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ 
เป็นทั้งเจ้าแผ่นดินและเจ้าชีวิต และเป็นธรรมราชาตามความเชื่อของพระพุทธศาสนา ทรงเป็นพุทธมามกะ และบำเพ็ญตนตามหลักทศพิธราชธรรมและจักรวรรดิวัตร

1.2 พระบรมวงศานุวงศ์ หรือเจ้านาย  คือเชื้อพระวงศ์ของพระมหากษัตริย์ มีฐานะรองจากพระมหากษัตริย์ อำนาจจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตำแหน่ง หน้าที่การงานกับความโปรดปรานของพระมหากษัตริย์ ยศของเจ้านายแบ่งได้เป็น 
 สกุลยศ  เป็นยศที่ได้รับมาตั้งแต่เกิด สืบเชื้อสายจากพระมหากษัตริย์โดยตรง มีลำดับชั้นดังนี้ เจ้าฟ้า พระองค์เจ้า หม่อมเจ้า 
    อิสริยยศ  เป็นยศที่ได้รับพระราชทานจากการได้รับราชการ เช่น พระราเมศวร พระบรมราชา เป็นต้น 
    ยศที่ได้รับอาจมีการเลื่อนขั้นหรือลดขั้นได้แล้วแต่ความผิดที่ได้กระทำลงไปหรือความชอบ ที่ได้รับ แต่มิได้สืบทอดยศที่ได้นั้นไปถึงลูกหลาน สิทธิตามกฏหมายของเจ้านายนั้น เช่น สามารถได้รับส่วนแบ่งรายได้จากภาษีอากรของแผ่นดินจะถูกพิจารณาคดีความได้ภายใน ศาลของกรมวังเท่านั้น และจะนำไปขายเป็นทาสไม่ได้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้มีการสถาปนาเจ้านายให้ทรงกรมมีตำแหน่งกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นตำแหน่ง 
ที่สำคัญที่สุดในตำแหน่งของเจ้านายทั้งหมดจะตั้งให้กับพระราชโอรสผู้หนึ่งผู้ใดเพื่อแสดงว่า ผู้นั้นสมควรจะได้ครองแผ่นดินเป็นกษัตริย์ต่อไป
1.3 ขุนนาง และข้าราชการ  ในสมัยอยุธยาขุนนางมีฐานะซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้กับผู้ที่ได้รับอำนาจต่างๆ ประกอบด้วย 4 ส่วน คือ 
 ยศ  คือฐานะหรือบรรดาศักดิ์ที่ได้รับของขุนนาง เช่น เจ้าพระยา พระยา พระ หลวง ขุน หมื่น พัน เป็นต้น 
    ตำแหน่ง  คือหน้าที่ทางราชการที่ได้รับ เช่น สมุหนายก สมุหพระกลาโหม เสนาบดี เจ้ากรม เป็นต้น 
    ราชทินนาม  คือนามที่ได้รับพระราชทาน ซึ่งแสดงถึงตำแหน่งหน้าที่ทางราชการ เช่น จักรีศรีองครักษ์ 
    ศักดินา  คือเครื่องกำหนดฐานะในสังคมตามตำแหน่งหน้าที่ราชการ เช่น 10,000 ไร่ ตำแหน่งต่างๆ ของขุนนางนั้นเป็นของเฉพาะบุคคล ไม่มีการสืบสายโลหิต 
     ขุนนางมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ ได้แก่ ปฏิบัติตามหน้าที่ที่ได้รับ ควบคุมกำลังพลสำหรับใช้งานในราชการทั้งในยามภาวะปกติและภาวะสงคราม สิทธิพิเศษที่ขุนนางได้รับ เช่น ได้รับการยกเว้นการถูกเกณฑ์แรงงาน รวมถึงบุตรของขุนนางด้วย ผู้ที่ถือศักดินาตั้งแต่ 400 ไร่ขึ้นไปจะได้รับสิทธิเข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์ และสามารถตั้งทนายว่าความให้ตนเองเมื่อเกิดคดีความ ได้รับยกเว้นการเสียภาษีที่นา เป็นต้น
2.ชนชั้นใต้การปกครอง แบ่งออกเป็น 

2.1 ไพร  คือ ราษฎรทั่วไปที่ไม่ได้เป็นเจ้านาย ขุนนาง และทาส บุคคลกลุ่มนี้มีมากที่สุดในสังคม ชายฉกรรจ์ทุกคนเมื่อมีอายุถึงกำหนดเริ่มตั้งแต่ 18 หรือ 20 ปี ต้องไปขั้นทะเบียนสังกัดมูลนาย มีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ได้รับมา ทั้งในภาวะที่สังคมสงบหรือมีสงคราม โดยที่ไม่มีการให้ค่าตอบแทนแต่อย่างใด 
ไพร่แบ่งออกเป็นหลายประเภท ได้แก่ 
- ไพร่หลวง  ไพร่ที่ขึ้นต่อพระมหากษัตริย์โดยตรง ถูกเกณฑ์แรงงานมาทำงานตามที่ราชการกำหนด ซึ่งพระมหากษัตริย์จะแบ่งให้ไปทำงานในกรมหรือกองต่างๆ เข้าเวรทำงานตามเวลาที่ถูกกำหนด คือ 6 เดือนต่อปี ( เข้าเดือนออกเดือน) 
- ไพร่ส่วย  ไพร่ที่ส่งเงินหรือสิ่งของมาแทนตัวของไพร่แทนการทำงานเพื่อชดเชย อาจเนื่องจากอยู่ไกลจากเมืองหลวง เข้ามารับราชการไม่สะดวก ตั้งแต่ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการส่งเงินมาแทนแรงงานมากขึ้น เงินที่ส่งมานี่เรียกว่า เงินค่าราชการ เก็บในอัตราเดือนละ 2 บาท หรือปีละ 12 บาท 
- ไพร่สม  ไพร่ที่ขึ้นต่อขุนนางและข้าราชการต่างๆ เพื่อทำงานรับใช้โดยตรง ไพร่นี้จะตกเป็นของมูลนายนั้นจนกว่ามูลนายจะถึงแก่กรรม ไพร่สมจะถูกโอนมาเป็นไพร่หลวง แต่บุตรของมูลนายเดิมมีสิทธิยื่นคำร้องของควบคุมไพร่สมนี้ต่อจากบิดาก็ได้ สิทธิทั่วไปของไพร่ เช่น ไพร่จะอยู่ภายใต้สังกัดของมูลนายคนใดคนหนึ่ง ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย ไพร่ไม่สามารถย้ายสังกัดได้นอกจากมูลนายของตนจะยินยอม ที่ดินของไพร่สามารถสืบทอดไปยังรุ่นต่อไป แต่ถูกจำกัดสิทธิในการย้ายที่อยู่ และต้องขึ้นทะเบียนตามภูมิลำเนาของตน เป็นต้น หลังจากที่เข้าเวรทำงานครบ 6 เดือนแล้ว สามารถกลับไปอยู่กับครอบครัวเพื่อประกอบอาชีพในครอบครัวได้อิสระ เว้นแต่ในยามสงคราม
2.2 ทาส  เป็นบุคคลชนชั้นต่ำที่สุดในสังคม ไม่มีกรรมสิทธิในแรงงานและชีวิตของตนเอง ทำงานให้แก่นายเงินของตนเท่านั้น ทาสแบ่งตามกฏหมายได้ 7 ชนิด คือ
- ทาสสินไถ  เป็นไพร่ที่ยากจน ขายตนเองหรือถูกผู้อื่นขายให้แก่นายเงิน ต้องทำงานเพื่อหาเงินมาไถ่ค่าตัวจึงหลุดจากความเป็นทาสได้ 
- ทาสในเรือนเบี้ย  คือลูกของทาสที่เกิดจากบิดามารดาที่เป็นทาส ทำให้ตกเป็นของนายเงินไปโดยปริยาย และไม่สามารถไถ่ตนเองให้เป็นอิสระได้ 
- ทาสที่ได้มาด้วยการรับมรดก  ทาสถือว่าเป็นทรัพย์สิน สามารถสืบทอดเป็นมรดกได้ 
- ทาสที่มีผู้ให  เนื่องจากทาสเป็นทรัพย์สิน จึงสามารถยกให้แก่กันได้ 
- ทาสที่ช่วยไว้จากทัณฑโทษ  ผู้ที่ต้องโทษทางอาญาแต่ไม่มีเงินจ่าย แล้วมีผู้นำเงินมาจ่ายค่าปรับให้แทนผู้นั้นแล้วให้ไปทำงาน ผู้นั้นจึงต้องไปเป็นทาส 
- ทาสที่ช่วยจากทุพภิกขภัย  หากเกิดภัยจากธรรมชาติต่างๆ เช่น วาตภัย หรืออุทกภัย พวกไพร่ที่ได้รับความเดือดร้อนแล้วมาขอความช่วยเหลือจากพวกเจ้านาย ก็จะต้องขายตัวมาเป็นทาสเพื่อจะได้มีชีวิตอยู่ได้ต่อไป 
- ทาสเชลย  คือเชลยที่ได้มาจากการไปทำการรบในศึกต่างๆ เมื่อจับได้ก็ให้เป็นทาสรับใช้นายผู้นั้นไป ทาสนั้นต้องทำงานให้กับนายของตนเท่านั้น ไม่มีสิทธิมีอิสรภาพที่จะดำเนินชีวิตได้ตามลำพัง เมื่อทาสกระทำความผิด นายจะสามารถลงโทษทาสอย่างไรก็ได้ แต่ต้องไม่ให้ถึงแก่ความตาย ถ้าหากทาสตาย นายเงินจะมีความผิดฐานฆ่าคนตาย ทาสเปรียบเสมือนเป็นทรัพย์สินชนิดหนึ่ง จะนำไปแลกเปลี่ยน ซื้อขาย หรือตกทอดเป็นมรดก แต่ผู้ที่ไม่สามารถดำรงชีวิตหรือ ประกอบอาชีพตามปกติได้ก็มักจะขายตัวมาเป็นทาส เพราะมีความสุขสบายกว่าการเป็นขอทาน 
" แม้ว่าทาสจะเป็นบุคคลชนชั้นต่ำสุด ไม่มีอิสรภาพ แต่ยังเป็นเจ้าของทรัพย์สินได้บ้าง มีศักดินา 5 ไร่ สามารถทำมรดกหรือสัญญา และมีสิทธิไถ่ถอนตัวเองได้หากมีเงินมาไถ่ถอน เว้นเพียงทาสเชลยเท่านั้นที่ไม่มีโอกาสเป็นอิสระ"
ศักดินาของการแบ่งชนชั้น \ ชนชั้นของบุคคลแต่ละกลุ่มนอกจากจะถูกแบ่งตามบทบาทในสังคมที่ได้รับแล้ว ก็ได้มีศักดินาเป็นของตนเองที่เป็น เครื่องแบ่งชนชั้นของบุคคลด้วย ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถได้มีการแบ่งศักดินาเป็นดังนี้

- พระมหาอุปราช 100,000 ไร่ 
- พระอนุชา 20,000 ไร่ 
- พระเจ้าลูกเธอ 15,000 ไร่ 
- ขุนนาง 400 - 1,000 ไร่ 
- พระสงฆ์ 400 - 2,400 ไร่ 
- ไพร่ 10 - 25 ไร่ 
- ทาส 5 ไร่ 




แต่การจัดระบบศักดินานี้ไม่ได้หมายความว่าจำเป็นจะต้องมีที่ดินทั้งหมด เป็นเพียงสิทธิที่จะมีที่ดินจำนวนเท่าที่กำหนดไว้เท่านั้น ส่วนพระมหากษัตริย์ไม่ได้กำหนดศักดินาไว้ เนื่องจากถือว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าของที่ดินทั้งราชอาณาจักรอยู่แล้ว
  พระสงฆ  ไม่ได้จัดให้อยู่ในฐานะใด เนื่องจากพระสงฆ์เป็นบุคคลที่มีหน้าที่สืบทอดพระพุทธศาสนา เป็นที่รวมของบุคคลชนชั้นต่างๆ และได้รับความเคารพนับถือจากบุคคลทุกชนชั้น ไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมืองโดยตรง แต่จะให้ความรู้ด้านวิชาการและจริยธรรมแก่บุตรทุกคน ทุกชนชั้น โดยจะมีวัดเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เป็นที่พึ่งของประชาชนของชุมชน คอยให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ ชักชวนประชาชนให้ร่วมกันบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม จัดว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสงเคราะห์ ช่วยเหลือประชาชนนอกจากนี้การบวชจัดเป็นวิธีเลื่อนชั้นในสังคมวิธีหนึ่ง ผู้ได้บวชเรียนแล้วจะได้มีติดต่อใกล้ชิดกับคนหลายชนชั้น และหลังจากสละสมณเพศออกมาก็มีโอกาสเข้ารับราชการ ทำให้ได้รับความก้าวหน้าในชีวิตมากกว่าเดิม
การศึกษา 
           ในสมัยอยุธยา การศึกษาถูกจำกัดอยู่ในวงจำกัด ไม่ได้มีมากเหมือนในปัจจุบัน เป็นการศึกษาแบบไม่บังคับผู้สอนมักสงวนวิชาไว้แค่ในวงศ์ตระกูลของตนหรือ 
คนเพียงวงแคบ ส่วนใหญ่จะจัดกันในสถานที่เหล่านี้ ได้แก่ 
1) วัด จะให้การศึกษากับบุตรหลานในเรื่องจริยธรรม พฤติกรรม หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ขนบธรรมเนียม การอ่านและเขียนภาษาไทย การคำนวณ รวมไปถึงวิชาการพื้นฐานอื่นๆ เช่น วิชาเวทมนตร์คาถาอยู่ยงคงกระพัน หรือวิชาช่าง ทั้งช่างฝีมือและศิลปกรรมผู้ที่เรียนต้องบวชเรียนเป็นภิกษุหรือสามเณรเสียก่อน ส่วนใหญ่ผู้ที่เรียนจะเป็นบุตรหลานในครอบครัวของคนสามัญชน 
2) บ้าน ส่วนใหญ่จะให้การศึกษาในวิชาชีพที่ครอบครัวมีอยู่ สำหรับเด็กชายจะเป็นงานที่เป็นอาชีพในบ้านอยู่แล้ว เช่น งานตีเหล็ก งานปั้น งานแกะสลัก งานช่าง หรือการรับราชการ เพื่อจะได้สืบทอดงานต่อไป ส่วนเด็กผู้หญิงก็จะเป็นงานบ้านงานเรือน เช่น การทำอาหาร เย็บปักถักร้อย เพื่อเป็นแม่บ้านต่อไป 
3) วัง เป็นสถานศึกษาสำหรับคนชั้นสูง ผู้ที่เรียนมักเป็นเชื้อพระวงศ์ เจ้านายในพระราชวังเท่านั้น จะให้การศึกษาในเรื่องการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม เพื่อไปใช้ในการปกครองในเวลาต่อไป ผู้สอนก็เป็นปราชญ์ทั้งหลายที่ประจำอยู่ในพระราชวัง ซึ่งมีความรู้อย่างมาก วังนับเป็นสถานศึกษาที่สำคัญที่สุด เพราะมีนักปราชญ์ราชบัณฑิตอยู่มากมาย 
     หลังจากที่มีชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อกับไทย ก็ได้นำหมอสอนศาสนาหรือมิชชันนารีมาด้วย นอกจากจะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ของชาวตะวันตกนั้นแล้ว ก็ได้ให้การศึกษากับชาวไทย โดยจัดตั้งโรงเรียนเพื่อให้วิชาการ วิทยาการต่างๆ แก่เด็กไทยได้มีความรู้ทัดเทียมกัน หรือบางครั้งก็มีการส่งนักเรียนไทยไปเรียนยังต่างประเทศ เพื่อนำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเมืองต่อไป
สภาพเศรษฐกิจสมัยอยุธยา
ปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อความเจริญทางเศรษฐกิจ
1.สภาพภูมิประเทศ  อยุธยาตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์จึงเหมาะแก่การเพาะปลูก
2.ทำเลที่ตั้ง  อยุธยาตั้งอยู่ใกล้ปากแม่น้ำใกล้ทะเล ทำให้ค้าขายกับต่างชาติได้สะดวก
3.ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร  อาณาจักรอยุธยามีแร่ดีบุก พื้นที่ป่าไม้มีมาก จึงมีของป่าและสัตวืป่ามากมาย
ลักษณะกิจกรรมทางเศรษกิจ
1.กิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ  การเกษตรกรรม การหัตถกรรม และการพาณิชยกรรม
2.การผลิตเป็นการผลิตเพื่อยังชีพ การทำนา การทำสวน เป็นอาชีพของพลเมืองโดยรวม
อาชีพเกษตรกรรมของพลเรือน  คนไทยมีอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร โดยเฉพาะข้าว เป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญที่ไทยสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งบ้าง ก็เก็บไว้เอง แล้วนำที่เหลือไปขายเพื่อทำการแลกเปลี่ยนเป็นเงินหรือสินค้าอื่นที่ต้องการนอกจากข้าวซึ่งสามารถปลูกและได้ผลผลิตมากแล้ว ยังมีพืชไร่อื่นๆ อีก เช่น มะม่วง มะพร้าว หมาก ฝ้าย พริกไทย หอม และกระเทียม กรมนา (กรมเกษตราธิการ) ซึ่งมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบในเรื่องของการทำอาชีพเกษตรกรรมของประชาชน ได้ออกระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับการทำอาชีพนี้ ได้แก่   เมื่อประชาชนมีที่ดินที่ได้จากการไปหักร้างถางมา ต้องไปแจ้งยังกรมนา เพื่อจะให้ตรวจสอบความถูกต้องของที่ดินที่ได้มาครอบครอง และจะออกใบโฉนดไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งที่ดินทุกผืนนี้ไม่สามารถทำการซื้อขายให้ใครได้ เพราะถือว่าที่ดินทั้งหมดเป็นของพระมหากษัตริย์ที่จะพระราชทานกับใคร หรือไม่พระราชทานกับใครก็ได้ ไม่ใช่ของตนเองโดยสมบูรณ์ เมื่อประชาชนเก็บเกี่ยวผลผลิตจากการทำนาทำไร่แล้ว กรมนาก็จะมีหน้าที่เก็บอากรที่เรียกว่า หางข้าว ซึ่งจะเก็บตามสัดส่วนของผลผลิตที่ได้ ซึ่งอากรที่เก็บได้มานี้จะเก็บไว้ใช้ในราชการแผ่นดินต่างๆ เช่น ในราชการสงคราม หรือยามขาดแคลน
การหัตถกรรมในสมัยอยุธยา
1.ผลผลิตด้านหัตถกรรมที่สำคัญ  เครื่องปั้นดินเผา การตีเหล็ก การทำเครื่องจักรสาน การทำน้ำตาล
2.ลักษณะการผลิตเป็นการผลิตในครัวเรือน แรงงานที่สำคัญ คือ สตรีและเด็ก
การพาณิชกรรมในสมัยอยุธยา
เนื่องจากอาณาจักรอยุธยาตั้งอยู่ในบริเวณที่มีแม่น้ำผ่านหลายสาย และยังมีทางออกสู่ทะเลภายนอก นอกจากจะขายสินค้าที่ ผลิตได้กับคนในชาติเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร ยังมีการติดต่อทำการค้าจากชาวต่างชาติอยู่ควบคู่กันไปด้วย เริ่มแรกจาก ในชาติเอเชียด้วยกัน เช่น จีน ซึ่งจีนได้แต่งเรือสำเภาออกทำการค้าไปทั่วทวีปเอเชีย ต่อมาเริ่มมีชาวตะวันตกเข้ามายังไทยเพื่อทำการค้าด้วย ทำให้ไทยมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากจากผลประโยชน์ที่ได้จากการค้าขายสินค้ากับชาวตะวันตก มีสินค้าหลายชนิด อยู่ในพระคลังสินค้ามากมาย
การค้าขายสินค้าในตลาด ประชาชนจะมีการแลกเปลี่ยนสินค้าอยู่ 2 แบบ คือใช้สินค้าต่อสินค้าในการแลกเปลี่ยน กับใช้เงินเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน มีการเก็บอากร 2 ชนิด เรียกว่า อากรตลาด ซึ่งเก็บจากพ่อค้าที่นำสินค้าเข้ามาขายในตลาด และอากรขนอน ซึ่งเก็บจากพ่อค้าที่นำสินค้าผ่านด่าน ทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งได้เริ่มเรียกเก็บในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ
รายได้ของแผ่นดินสมัยอยุธยา
1. รายได้จากภาษีอากร 
1.1 จังกอบ  รายได้ที่เก็บตามด่านขนอน ทั้งทางบกและทางน้ำ โดยเก็บชักส่วนสินค้าหรือเก็บตามเงินเป็นอัตราตามขนาดของพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้า เช่น เรือ
1.2 อากร  รายได้ที่เก็บส่วนผลประโยชน์ในการประกอบอาชีพต่างๆ เช่น เกษตรกรรม โดยเก็บในอัตราร้อยละ 10 ของผลประโยชน์ที่ได้ ี่เรียกว่า " 10 หยิบ 1"
1.3 ส่วย  รายได้ที่เกิดจากสิ่งของที่ได้มายังท้องพระคลังเพื่อทดแทนการถูกเกณฑ์มาทำแรงงานทุกปี
1.4 ฤชา  รายได้ที่เกิดจากค่าธรรมเนียม ซึ่งกำหนดเรียกจากผู้มาติดต่อให้รัฐอำนวยประโยชน์แก่ประชาชนเฉพาะ อากรสมพัตสร เก็บจากการทำไร่ไม้ล้มลุก อากรสวน อากรตลาด อากรประมง และอากรบ่อนเบี้ย
2. รายได้จากพระคลังสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่ผูกขาดการค้า
มีรายได้จากการเป็นตัวกลางในการซื้อขายสินค้าของพ่อค้าชาวต่างประเทศกับประชาชนทั่วไป สินค้าทุกชิ้นต้องขายให้พระคลังสินค้าก่อนที่จะถูกขายยังผู้ที่ต้องการต่อไป
3. รายได้อื่นๆ เช่น จากการค้าสำเภากับต่างประเทศ การส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายของเมืองประเทศราชและการค้าขายระบบบรรณาการกับจีน ค่าทดแทนการเกณฑ์แรงงาน
พระคลังสินค้า
         ตั้งแต่เริ่มมีชาติตะวันตกเข้ามาติดต่อทำการค้ากับอยุธยา จึงได้มีการตั้งกฎเกณฑ์ควบคุมการค้าระหว่างประเทศ ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ได้ตั้งพระคลังสินค้าเป็นหน่วยงานควบคุม มีการดำเนินนโยบายแบบผูกขาดทางการค้า สินค้าทุกชนิดที่จะผ่านเข้าออกในราชอาณาจักรต้องผ่านหน่วยงานนี้ก่อน พระคลังสินค้ามีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้อสินค้าที่ชาวต่างชาตินำเข้ามาได้ก่อนประชาชน และซื้อได้ในราคาที่ถูกและยังกำหนดสินค้าประเภทต้องห้ามที่ประชาชนไม่สามารถ
ทำการซื้อขายเองได้ ต้องนำมาขายให้กับพระคลังสินค้าก่อน รายการสินค้าต้องห้ามที่กำหนด ส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ชาวต่างชาตินิยม เช่น อาวุธ อาหาร ของหายากต่างๆพ่อค้าต่างชาติคนใดต้องการซื้อต้องมาซื้อที่พระคลังสินค้าเท่านั้น ทำให้พระคลังสินค้ามีรายได้เข้าสู่รัฐได้เป็นอย่างมาก ควบคุมไม่ให้ชาติหนึ่งชาติใดมีอิทธิพลทางการค้ามากเกินไป แต่มีข้อเสียคือ ต่างชาติเสียเปรียบในระบบการค้าแบบนี้และพ่อค้าชาวไทยขาดความรู้ความเข้าใจใน การดำเนินการค้าขาย เพราะไม่มีโอกาสทำการติดต่อกันได้โดยตรงนอกจากจะได้รับอนุญาตเป็นรายๆ ไป
 ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน
  ความสัมพันธ์กับจีน
   ไทยมีความสัมพันธ์กับจีนมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย  เมื่อสุโขทัยเสื่อมอำนาจลง  พระมหากษัตริย์และเจ้านายสมัยอยุธยาได้เจริญไมตรีกับจีนสืบต่อมา      นโยบายการเมืองระหว่างประเทศทีอยุธยามีต่อจีนนั้นมีลักษณะในทางให้จีนยอมรับสถานภาพโดยการส่งเครื่องบรรณาการเพื่อเป็นเกราะป้องกันภัย  และประโยชน์ทางการค้า  เนื่องด้วยจีนไม่ยอมติดต่อค้าขายกับประเทศที่ไม่ยอมอ่อนน้อมต่อจีน  เมื่อทูตของประเทศที่จีนถือว่าอยู่ในอารักขาไปติดต่อด้วย  จะได้รับการต้องรับและได้สิทธิทางการค้า  และเมื่อมีปัญหาทางการเมืองก็พึ่งจีนได้ด้วย
                 ความสัมพันธ์กับเขมร
    เมื่อพระเจ้าอู่ทองสถาปนากรุงศรีอยุธยาขึ้นเป็นราชธานี  เป็นช่วงที่เขมร (ขอม)  เสื่อมอำนาจแล้วระยะแรกเขมรและกรุงศรีอยุธยาเป็นไมตรีกัน  ต่อมาเขมรตัดไมตรีกับกรุงศรีอยุธยาหันไปมีไมตรีกับสุโขทัยแทน พระเจ้าอู่ทองเห็นว่า  ขอมแปรพักตร์   จึงโปรดยกกองทัพไปตีจนเป็นผลสำเร็จใน พ.ศ. 1896  เขมรจึงตกเป็นประเทศของไทยตั้งแต่ครั้งนั้น  แต่ฐานะประเทศของเขมรไม่เป็นการถาวร  เพราะเขมรพยายามตั้งตนเป็นอิสระอยู่เนืองๆ ไทยต้องยกทัพไปปราบปรามเขมรหลายครั้ง
 ความสัมพันธ์กับลาว
    ความสัมพันธ์ระเหว่างอาณาจักรอยุธยากับกรุงศรีสัตนาคนหุตหรือล้านช้างของลาวนั้น  กล่าวได้ว่ามีไมตรีที่ดีต่อกันมาตั้งแต่เริ่มสร้างกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 1891
ต่อมาอาณาจักรอยุธยามีอำนาจเข้มแข็งขึ้น  เมืองต่างๆ ที่เคยขึ้นกับพม่า  เช่น  มอญ  ลาว  เป็นต้น  ต่างมาอ่อนน้อมขอเป็นประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา  โดยทีกรุงศรีอยุธยาไม่ต้องส่งกองทัพเข้ารบพุ่งหรือบีบบังคับแต่อย่างใด  ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาวจึงเป็นไปแบบเป็นเมืองพี่เมืองน้องกันมาตลอด (ความสัมพันธ์อันดีที่มีต่อกันยืนยงมาจนกระทั่งถึงต้นรัชกาลที่ 3  แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  เจ้าอนุวงศ์ตั้งตนเป็นอิสระแต่ทำการไม่สำเร็จ  ลาวจึงอยู่ในฐานะเป็นประเทศราชของไทยมาจนถึงสมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ลาวจีงตกไปเป็นของฝรั่งเศส)


ความสัมพันธ์กับพม่า
   เดิมพม่ามิได้มีอาณาเขตติดต่อกับอาณาจักรอยุธยา  เพราะมีประเทศมอญขวางอยู่  และทางเหนือก็มีล้านนากั้นอยู่  พม่านั้นมีที่ตั้งลึกเข้าไปในแผ่นดิน  ติดต่อค้าขายกับต่างประเทศไม่สะดวก  และผืนดินไม่สมบูรณ์จึงพยายามขยายอาณาเขตมายังดินแดนมอญ  เพราะเป็นประเทศอุดมสมบูรณ์อยู่ติดทะเล  ไปมาค้าขายกับนานาประเทศได้สะดวก
    สงครามระหว่างกรุงศรีอยุธยากับพม่าครั้งแรกเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ กับ  สมเด็จพระไชยราชาธิราช   สมัยนั้นกรุงศรีอยุธยามีอำนาจครอบคลุมไปถึงหัวเมืองมอญบางแห่งด้วย  เมื่อพระเจ้าตะเบ็งซะเวตี้กษัตริย์พม่าตีกรุงหงสาวดีเมืองหลวงของมอญได้ใน พ.ศ. 2082  ชาวมอญจำนวนมากอพยพหนีมายังเมืองเชียงกรานเมืองประเทศราชของไทย  พม่าจึงถือเอาเป็นสาเหตุเข้าตีเมืองเมืองเชียงกราน  สมเด็จพระไชยราชาธิราชกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายยกไปตีคืนสำเร็จ  แต่การที่พม่าได้หัวเมืองมอญไว้ในอำนาจก็ทำให้พม่ามีเขตแดนติดต่อกับอาณาจักรอยุธยา   และเกิดการประจันหน้ากันแต่บัดนั้นมา
  การสงครามระหว่างพม่ากับกรุงศรีอยุธยาแทบทุกครั้งเกิดจากการรุกรานของพม่า  ตลอดสมัยอยุธยามีการทำสงครามกับพม่า  24  ครั้ง  กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายถูกรุกรานแทบทุกครั้ง  มีเพียง  3  ครั้ง  เท่านั้นที่กรุงศรีอยุธยาเป็นฝ่ายยกไปตีพม่า  คือ  ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงยกทัพไปตีกรุงหงสาวดี  2  ครั้ง  เมื่อ พ.ศ. 2138  และ พ.ศ. 2142  และในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอีก  1  ครั้ง  เมื่อ พ.ศ. 2207