Tuesday, June 18, 2013

หลักการพูดในที่ชุมนุมชน


หลักการพูดในที่ชุมนุมชน
ความสำคัญของการพูดในที่ชุมนุมชน
            พูดดีเป็นศรีแก่ตัวเป็นสุภาษิตของไทยที่ใช้ได้ทุกยุคทุกสมัย ยิ่งปัจจุบัน โลกเราแคบเข้าด้วยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ช่วยให้เราสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็ว มิตรภาพที่พลโลกมีต่อกันก็แผ่ไพศาลไปทั่ว ภาษาพูดและวิธีการพูดก็นับวันทวีความสำคัญยิ่งขึ้น การพูดดีนอกจากเป็นศรีแก่ตัว ยังเป็นศรี ต่อประเทศและเป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมืองอีกด้วย
ความหมายของการพูดในที่ชุมนุมชน
            การพูดในที่ ชุมนุมชนจึงเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์  เราจึงมีคำว่า วาทวิทยาและ วาทศิลป์ซึ่งเป็นวิชาที่มีประโยชน์และมีความจำเป็นยิ่ง การพูดดีพูดเป็น จะเป็นจะเป็นเครื่องส่งเสริมความก้าวหน้า ทั้งในทาง สังคมและการงาน เพราะการพูดดีจะประหยัดเวลาทำให้มีความเข้าตรงกัน สุนทรภู่ กวีเอกของไทยกล่าวถึงความสำคัญของการพูดไว้มาก ดังความตอนหนึ่งจาก นิราศภูเขาทอง
            ถึงบางพูดพูดดีเป็นศรีศักดิ์                มีคนรักรสถ้อยอร่อยจิต
แม้นพูดชั่วตัวตายทำลายมิตร              จะชอบผิดในมนุษย์เพราะพูดจา
อีกตอนหนึ่งว่า..
            เป็นมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก          จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
แม้พูดดีมีคนเขาเมตตา                                    จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ
ทำไมจึงต้องฝึกพูด
            การพูดเป็น การพูดดี หรือที่เรียกว่า วาทศิลป์ นั้น เป็นสิ่งที่ฝึกหัดได้อย่างไม่ต้องสงสัย เช่น จากการศึกษาประวัตินักพูดเอกของโลก
เดมอสเธนิส นักพูดฝีปากเอกของกรีก ได้พูดปลุกใจทหารที่กำลังระส่ำระสาย ให้ต่อสู้ กองทัพ อันเกรียงไกรของพระเจ้าฟิลลิปแห่งแคว้นเมซิโดเนีย จนได้รับชัยชนะ แท้จริงเดมอสเธนิสเป็นคนพูดติดอ่างมาก่อน ไปพูดในที่ชุมนุมชนก็ถูกเย้ยหยันมาแล้ว เขาจึงหลบจากเอเธนส์ไปฝึกที่นอกเมือง ด้วยตนเอง จนพูดคล่องดีแล้วจึงกลับเข้ามา
ลินคอล์น ประธานาธิบดีผู้ยิ่งใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เจ้าของวาทะ รัฐบาลของประชาชนโดยประชาชน และเพื่อประชาชนอันเป็นรากฐานของการปกครองระบอบประชาธิปไตย สุนทรพจน์ของท่าน ณ เก็ตติสเบอร์ก ได้รับเกียรติบรรจุในหนังสือเอ็นไซโคลปิเดีย  เมื่อเริ่มเป็นทนายไปว่าความครั้งแรก ปากสั่น ขาสั่นเหงื่อตก จนศาลสงสารสั่งให้นั่งลง หลังจากนั้นท่านก็ได้ ฝึกตนเอง ประสบความสำเร็จในการพูดอย่างยอดเยี่ยม
แสดงว่าศิลปะการพูดเป็นสิ่งที่ฝึกฝนได้  ส่วนที่จะมีความช่ำชองนั้นจะต้องฝึกฝนจนชำนาญ การฝึกพูดในที่ชุมนุมชนมีวัตถุประสงค์แบ่งได้เป็น 5 ประการใหญ่ๆ คือ
1.         ฝึกเพื่อให้รู้จักการสื่อสารด้วยคำพูดที่ถูกต้อง
2.         ฝึกเพื่อเตรียมตัวเป็น ผู้นำที่ดี
3.         ฝึกเพื่อวางรากฐานของประชาธิปไตย
4.         ฝึกเพื่อสร้างมนุษย์สัมพันธ์
5.         ฝึกเพื่อพัฒนาบุคลิกภาพ
ข้อควรคำนึงเบื้องต้นสำหรับการเป็นผู้พูด
1.         ต้องมีความเชื่อว่าจะเป็นนักพูดที่ดีได้ มีใจที่จะพัฒนาตนเองจนประสบความสำเร็จ
2.         ต้องใฝ่ความรู้  ผู้ที่ใฝ่ความรู้ หมั่นศึกษาพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ
3.         ต้องเป็นนักสังเกตและจดจำ     คนช่างสังเกตและจดจำมักได้เปรียบผู้อื่นเสมอ มักเป็นผู้พูดที่มีเกร็ดความรู้น่าสนใจ โดยเฉพาะจากประสบการณ์แปลกๆมาเล่าสู่กันฟัง
4.         ต้องหมั่นฝึกฝน  การพัฒนาตนเองในด้านนี้
·       จะได้ผลจากการฟังคำบรรยายเกี่ยวกับแนวทางวิธีการเพียงร้อยละ 10 
·       แสดงให้ดูเป็นตัวอย่างหรือสาธิตก็จะได้เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 20
·       ส่วนที่จะได้ประโยชน์มากที่สุด อยู่ที่การฝึกฝน และหมั่นปฏิบัติถึงร้อยละ 70
แบบของการพูดในที่ชุมนุมชน
            ถ้ายึดโอกาสของการพูดเป็นหลักการพูดในที่ชุมนุมชน อาจแบ่งออกเป็น   2  แบบ ดังนี้
1. การพูดแบบเป็นทางการ เป็นการพูดในโอกาสที่เป็นพิธีรีตองเป็นงานเป็นการ
·       ต้องการความแน่นอนและการเตรียมการจนหาข้อบกพร่องไม่ได้  หรือได้น้อยที่สุด
·       มักเป็นการพูดในพิธีการต่าง ๆ เช่น การกล่าวรายงาน การกล่าวเปิดพิธี การกล่าวคำปราศรัยในโอกาสสำคัญ ฯ 
·       ต้องมีความสุภาพเรียบร้อยและมารยาทอันดีงามทั้งในการพูดและบุคลิกภาพ
2.  การพูดแบบไม่เป็นทางการ   การพูดในที่ชุมนุมชนที่
·       บรรยากาศความเป็นกันเองในระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง ไม่ว่าจะด้วยอารมณ์ขัน ลีลาการพูด
·       ผู้พูดอาจเปิดโอกาสให้ผู้ฟังมีบทบาทมากขึ้น เช่นแสดงความคิดเห็นหรือซักถาม เช่น การอภิปราย การสอน
วิธีการพูดในที่ชุมนุมชน
ผู้พูดที่ดีควรรู้จักใช้วิธีของการพูดให้เหมาะสมกับการพูดในแต่ละโอกาส ซึ่งมีอยู่ 4 วิธีด้วยกัน
1.  พูดโดยการอ่านจากต้นฉบับ   เป็นการพูดที่ไม่ต้องการให้มีข้อผิดพลาด
·       มักเป็นการพูดในโอกาสที่มีความสำคัญยิ่งและเป็นทางการ
·       โดยผู้พูดจะอ่านจากร่างที่เตรียมมาชนิดคำต่อคำเลยทีเดียว
·       ผู้พูดควรใช้สายตามองผู้ฟังประมาณ สองในสามของการพูดทั้งหมด
·       ควรอ่านอย่างมีจังหวะทีดี มีการเน้นในที่ที่ควรจะเน้น
2.  พูดโดยการท่องจำ  
·       ผู้พูดเขียนเรื่องที่จะพูดขึ้นมาทุกถ้อยคำ ทบทวน
·       ซักซ้อมจนจำได้ขึ้นใจ แล้วเอาไปพูดในที่ชุมนุมชน
·       มักจะนิยมใช้กับผู้ที่เริ่มการพูดใหม่ๆ
·       สำเนียงการพูดมักไม่เป็นธรรมชาติและอาจหลงลืมข้อความตอนสำคัญๆไป
3.  พูดจากความเข้าใจ โดยมีการเตรียมล่วงหน้า   การพูดด้วยวิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมกันมากที่สุด
·       เปิดโอกาสให้ผู้พูดได้ใช้ความสามารถเฉพาะตัวให้สอดคล้องกับบรรยากาศ
·       ผู้พูดเตรียมเฉพาะสาระของการพูดไว้ล่วงหน้า เมื่อปรากฏตัวต่อหน้าที่ชุมนุมชน
·       ผู้พูดจะถ่ายทอดสาระเหล่านั้นออกมาโดยใช้ถ้อยคำและลีลาการพูดที่เป็นธรรมชาติของตัวเอง
4.  พูดแบบกะทันหัน โดยไม่มีการเตรียมล่วงหน้า   
·       ต้องอาศัยไหวพริบปฏิภาณและความเชื่อมั่นในตนเอง
·       พูดให้ตรงประเด็น ที่มีการกำหนดขึ้น
 แนวทางการพูดปากเปล่าโดยไม่มีการเตรียมล่วงหน้า มีดังนี้
ก. พูดถึงความเป็นมา พิจารณาแง่มุมเกี่ยวกับอดีต ปัจจุบัน อนาคตของเรื่องที่จะพูด
ข. พูดเชิงวิเคราะห์  อะไรคือปัญหา แง่มุมที่สำคัญต่างๆของปัญหาโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวพันกับต้นเหตุ และผลของปัญหานั้นๆ
ค. เน้นความผูกพันต่อทุกคน 
-      ชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของเรื่องราวที่มีต่อทุกคนในที่นั้น
-      สรุปด้วยการแนะว่าทุกคนควรทำอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นบ้าง
จุดมุ่งหมายของการพูด
                        นอกจากจะต้องรู้จักเลือกใช้แบบของการพูดให้เหมาะกับกาลเทศะแล้ว ก่อนการพูดทุกครั้ง ผู้พูดที่ดีควรจะต้องรู้หรือกำหนดจุดมุ่งหมายของการพูด ในครั้งนั้นๆเอาไว้ด้วยว่า ควรพูดเพื่ออะไร
1.  เพื่อให้ความรู้ ข่าวสาร และข้อเท็จจริง   
·       การพูดต่อที่ชุมนุมชนส่วนใหญ่เป็นการพูดเพื่อให้ความรู้ ข่าวสาร ข้อเท็จจริง 
·       เป็นการพูดที่ต้องใช้ความสามารถในการบรรยาย การอธิบาย การชี้แจง
·       การแสดงความหมายและการสาธิตเกี่ยวกับเรื่องราวนั่นเอง
2. เพื่อความบันเทิง      มักเป็นการพูดแบบไม่เป็นทางการ
·       มุ่งที่จะสร้างความบันเทิงและบรรยากาศรื่นรมย์ในหมู่ผู้ฟัง
·       ส่วนใหญ่เป็นการพูดเกี่ยวกับการเผชิญภัย ความรัก ความสำเร็จในชีวิต
3. เพื่อจูงใจ    เป็นการพูดเพื่อให้ผู้ฟังคล้อยตามผู้พูด กระทำตามผู้พูด หรือมีความประทับใจในตัวผู้พูดและเรื่องที่พูด        
4. เพื่อให้เกียรติ    คือการพูดในโอกาสต่างๆ ทั้งที่เป็นมงคลและอวมงคล
·       เพื่อให้เกียรติแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือหลายบุคคลเนื่องในโอกาสนั้นๆ
·       เนื้อหาสาระมักประกอบไปด้วยการยกย่องสรรเสริญและการอวยพรกันและกัน
·       การพูดในแต่ละครั้งอาจมีจุดมุ่งหมายหลายประการ แต่ควรยึดจุดมุ่งหมาย หลักประการใดประการหนึ่ง เพื่อทำให้ผู้ฟังสามารถรู้ได้แน่ชัดว่าผู้พูดต้องการอะไร
ข้อบกพร่องของการพูดในที่ชุมนุมชน  มีคร่าว ๆ ดังนี้
1. พูดยืดยาว เยิ่นเย้อ เกินกว่าเวลาที่กำหนดให้พูด หรือเวลาอันควร ทำให้ผู้ฟังเบื่อหน่ายไม่สนใจฟัง และยังเป็นการทำลายเวลาของส่วนรวมอีกด้วย
2.  พูดสั้นไป   พูดน้อย ขาดสาระสำคัญ เมื่อพูดออกไปแล้วไม่เกิดประโยชน์อันควร เพราะผู้ฟังได้รับข้อมูลไม่เพียงพอ ผู้พูดก็จบการพูดเสียแล้ว
3.  พูดไม่ชวนฟัง    ผู้พูดไม่ใคร่ครวญให้ดีก่อนการพูด ไม่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา พูดไปแล้วผู้ฟังไม่พอใจ หรือเกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ ไม่เกิดประโยชน์ในทางสร้างสรรค์
4.  พูดไม่รู้เรื่อง    ผู้ฟังจับใจความไม่ได้ เพราะผู้พูดพูดสับสนวกวน ขาดการขยายความที่ดีพอ ไม่รู้จักใช้ถ้อยคำที่ช่วยให้เข้าใจง่าย เมื่อผู้พูดพูดจบไปแล้ว ผู้ฟังยังฟังไม่รู้เรื่องในสิ่งที่ได้ฟังไป

การสร้างความเชื่อมั่นและขจัดอาการประหม่า
            ยากที่ประสบความสำเร็จในการพูดต่อที่ชุมนุมชน ถ้าขาดความเชื่อมั่นในตนเอง และไม่สามารถควบคุมสติอารมณ์ในขณะพูด มิใช่เพียงแต่ผู้ที่ต้องขึ้นพูดในครั้งแรกเท่านั้น แม้แต่ผู้ที่พูดต่อที่ชุมนุมชนบ่อย ๆ ส่วนใหญ่ต่างก็ยอมรับว่า  ยังคงมีความประหม่าเมื่อได้รับเชิญให้พูด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไม่มีโอกาสรู้ล่วงหน้า หรือต้องไปพูดต่อหน้ากลุ่มชนใหม่ ในสถานที่ใหม่ เพียงแต่ด้วยประสบการณ์การพูด  จึงควบคุมอาการประหม่าได้ในเวลาอันรวดเร็ว
สาเหตุของการขาดความเชื่อมั่นและมีอาการประหม่า
·       ผู้ที่ไม่มีประสบการณ์ในการปรากฏตัวต่อที่ชุมนุมชนมักมีความประหม่ามาก เมื่อต้องพูดในครั้งแรกๆ  จะตัวสั่น มือ ขาสั่น ปากสั่น จิตใจวอกแวก ฯ  ไม่มั่นใจว่าจะเริ่มการพูด หรือจบการพูดอย่างไร บางครั้งต้องทำเสียงประหลาดอื่นๆก่อนการพูด 
·       แม้จะเตรียมตัวมาอย่างดี ก็สามารถเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้
·       การไม่คุ้นเคยกับการพูดต่อที่ชุมนุมชน ฉะนั้น จงฝึกฝน...หรือลุกขึ้นพูดในโอกาสที่เปิดให้ จะพบว่าการพูดต่อที่ชุมนุมชนนั้นสามารถสร้างความเพลิดเพลินได้อย่างไม่น่าเชื่อ
วิธีการสร้างความเชื่อมั่น
1.  เตรียมตัว   ความประหม่าในปริมาณพอเหมาะนั้นมีประโยชน์ เพราะเป็น สัญชาติญาณทางธรรมชาติ เตรียมตัวเราให้พร้อม เพื่อเผชิญกับสิ่งที่ไม่คุ้นเคย การเตรียมตัวที่ดีคือการเอาใจใส่กับเรื่องที่จะพูดจนเกิดแนวความคิดที่แตกแขนงออกไป
2.  เตรียมพร้อม   ซักซ้อมการพูด
·       โดยหาคนที่มีความสนใจฟังเรื่องที่เราเตรียมจะพูด
·       พูดให้เขาฟัง
·       ต้องมีการปรับปรุงในข้อบกพร้อง ถ้ามีข้อแนะนำแก่เรา
3.  เตรียมข้อมูล   ต้องวิเคราะห์เรื่องที่จะพูด ศึกษาค้นคว้าข้อมูล และย้ำกับตัวเองว่าเป็นเรื่องที่เหมาะสมกับตัวเราอย่างที่สุดแล้วและไม่มีใครรู้เรื่องนี้ดีกว่าเรา
4. เตรียมการพูด   ต้องทุ่มเท
·       ใส่ใจกับจุดใหญ่ใจความสำคัญของหัวข้อนั้น
·       มีทัศนคติที่ถูกต้อง คือ ต้องมีความเชื่อมั่นต่อเรื่องที่จะพูด
การเอาชนะอาการประหม่า
1.         จิบน้ำเย็นเพียงเล็กน้อย
2.         หายใจลึกๆยาวๆให้เต็มปอดสัก 10 วินาที ปริมาณออกซิเจนที่เพิ่มขึ้น จะช่วยให้เกิดความกล้าช่วยขจัดความกลัวได้
3.         หนุนใจตนเองว่า...คนฟังก็เป็นพี่น้องของเรา ไม่ต้องอายหรือกลัว
4.         พูดด้วยเสียงดังฟังชัดในประโยคแรก เช่น ท่านประธาน ท่านผู้ดำเนินรายการ...
5.         สบตาผู้ฟัง และยิ้ม
สรุปการสร้างความเชื่อมั่นและขจัดอาการประหม่า
1.         ต้องเตรียมเรื่องที่จะพูด
·       หาข้อมูล
·       เขียนเป็นหัวข้อก่อนหลัง ทำความเข้าใจในแต่ละหัวข้อให้ดี
·       เวลาพูดหรือบรรยายเพียงแต่มองหัวข้อแล้วก็พูด
2.         ต้องซักซ้อมทบทวนแต่ละหัวข้อให้ดี
3.         ท่าทีต้องสง่า  พูดชัดถ้อยชัดคำ วาจาสุภาพ เวลาพูดอย่าหัวเราะ
4.         เชื่อมั่นเห็นว่าความตื่นเต้น ความประหม่า คือด่านสำคัญ ถ้าทำลายลงได้ ที่เหลือก็ง่าย
การเตรียมการพูด
ผู้พูดที่ดีต้องอาศัยการฟังและการคิดเพื่อพัฒนาการพูดของเราให้ดีขึ้น รู้จักสังเกตและจดจำ ต้องรู้จักวิเคราะห์ผู้ฟัง โอกาสและเวลาที่จะพูดตลอดจนสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่จะเป็นส่วนทำให้การพูดของเรามีความน่าสนใจมากขึ้น   รู้ถึงปัญหาที่อาจต้องเผชิญ สามารถกำหนดความเหมาะสมของการพูดในแต่ละครั้งได้โดยมีแนวทางดังนี้
1.         การวิเคราะห์ผู้ฟัง    จัดเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุด เพราะผู้ฟังเป็นองค์ประกอบของการพูดที่มีผลอย่างยิ่งต่อการพูด ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ฟังทำให้มีการเลือกเนื้อหาถ้อยคำได้เหมาะสมและสร้างความประทับใจแก่ผู้ฟังได้
            อายุของผู้ฟัง  ผู้ฟังที่มีอายุต่างกันย่อมมีความสนใจฟังเรื่องที่ต่างกัน
·       ผู้ที่มีอายุมากย่อมมีประสบการณ์มาก มักจะเอาจริงเอาจัง มีเหตุผล มีความสุขุม
·       คนหนุ่มสาวอาจชอบความสวยความงาม ความสนุกสนาน ด้านเหตุผลอาจมีน้อยกว่า
พระยาอนุมานราชธนเคยกล่าวไว้ในหนังสือชื่อ ฟื้นความหลังถึงนักปราชญ์ผู้หนึ่ง(ลูเครติอุส) กล่าวว่า ความสุขของเด็กอยู่ที่เล่น ของหนุ่มสาวอยู่ที่รัก ของคนกลางคนอยู่ที่งาน และของคนแก่อยู่ที่ความหลัง
            เพศของผู้ฟัง   ความสนใจของหญิงและชายย่อมแตกต่างกัน
·       ผู้หญิงมักชอบความสวยความงาม ดอกไม้ การเย็บปักถักร้อย การทำอาหาร แฟชั่น ฯลฯ
·       ผู้ชายมักชอบเรื่องตื่นเต้น การเผชิญภัย การต่อสู้ การแสดงออก  การเมือง มีผู้กล่าวไว้น่าฟังว่า ชายเอาจริงเอาจังในการงาน แต่สำราญในชีวิต ส่วนหญิงสำราญในงาน แต่เอาการในชีวิต
            จำนวนผู้ฟัง   ถ้าทราบจำนวนผู้ฟังล่วงหน้า ก็ทำให้ผู้พูดสามารถเตรียมเรื่องได้เหมาะสม
เพราะปกติมนุษย์รวมกลุ่มกันมากเพียงใด ความเป็นตัวของตัวเองก็ลดน้อยลงเป็นลำดับและเกิดอารมณ์ร่วมของกลุ่มเข้ามาแทนที่ ดังที่เขาเรียกกันว่า จิตวิทยาฝูงชนนักการเมืองมักใช้เป็นแนวทางแสวงหาประโยชน์  สร้างความนิยม
ถ้ามีผู้ฟังจำนวนมาก
·       การพูดในครั้งนั้นจำเป็นที่จะ ต้องมีข้อมูลและหลักวิชามาก
·       การที่จะสร้างความเป็นกันเองจะมีอยู่น้อย
หากมีผู้ฟังน้อย
·       อาจสร้างบรรยากาศให้เป็นกันเอง จะทำได้ดียิ่งขึ้น
·       สามารถแทรก อารมณ์ขันได้บ่อยครั้ง 
            การศึกษา    การศึกษาไม่ใช่เครื่องวัดภูมิปัญญาของคนทุกคน แต่จะเป็นเครื่องมือกำหนดหลักโดยทั่วไป
·       การศึกษาสูงมาก ย่อมที่จะมีความรู้ความเข้าใจในถ้อยคำที่มีเนื้อหาทางวิชาการมากขึ้น การที่จะพูดจูงใจก็ดี  จำเป็นต้องชักจูงด้วยเหตุผล
·       การศึกษาน้อย จำเป็นต้องเน้นอารมณ์และความรู้สึกน่าเชื่อถือให้มาก
            อาชีพของผู้ฟัง    อาชีพจะมีส่วนช่วยชี้ให้เห็นถึงสภาพทางสังคม ชีวิต ความเป็นอยู่ ประสบการณ์ ความสนใจ ความช่ำชอง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้ผู้พูดได้เตรียมตัวโดยพยายามแฝงสาระในการพูดที่เกี่ยวข้องกับอาชีพของเขาเหล่านั้น
            ทัศนคติของผู้ฟังที่มีต่อเรื่องที่พูด    นับว่าจำเป็นมากในการเตรียมการพูด เพราะผู้ฟังจะให้ความสนใจและตั้งใจฟังก็เฉพาะเรื่องที่สอดคล้องกับทัศนคติของตน กล่าวอย่างง่ายๆ คือ ผู้ฟังจะเชื่อในเรื่องที่ตนเชื่ออยู่แล้ว จะสนใจในเรื่องที่ตนสนใจอยู่แล้ว
            ทัศนคติของผู้ฟังที่มีต่อผู้พูด    ผู้ฟังจะให้ความสนใจเชื่อถือการพูดของผู้ที่ตนเลื่อมใสมากกว่าการพูดของคนธรรมดา หากผู้ฟังไม่มีความสนิทสนมหรือเคยได้ยินรู้จักผู้พูดมาก่อน จำเป็นที่ผู้พูดควรพยายามสร้างความสนิทสนมในระยะเริ่มพูด
2.         การวิเคราะห์โอกาสและเวลาที่พูด    จะช่วยให้ผู้พูดได้รู้ถึงบรรยากาศและความต้องการของผู้ฟังในขณะนั้นด้วย เช่น ในงานมงคล มีความชื่นชมยินดีกัน ผู้ฟังก็ย่อมต้องการความรื่นเริงมากกว่าความเอาจริงเอาจังหรืออะไรที่เป็นพิธีรีตองจนน่าเบื่อหน่าย หรือแม้กระทั่งการพูดที่ยืดยาดจนเกินความจำเป็น
           โอกาส   ก่อนเตรียมการพูด ควรรู้ว่าจะไปพูดในโอกาสอะไร งานฉลองปริญญาบัตร  เลื่อนยศ  แล้วเตรียมอย่างเหมาะสม ทั้งแต่งกายให้เหมาะสม หากมีผู้พูดหลายท่านควรมีข้อมูลว่าคนอื่นพูดเรื่องอะไร จะได้หลีกเลี่ยงไม่ต้องพูดซ้ำกัน
           เวลา   ควรเลือกเรื่องที่พูดให้พอดีกับเวลาที่กำหนดไว้ ไม่ควรเลือกเรื่องที่กว้างเกินไป
การเรียบเรียง
ในการพูดในที่ชุมนุมชนแต่ละครั้ง ผู้พูดจะต้องมีการเรียบเรียงเนื้อหาที่จะพูดให้เป็นขั้นตอน มีความสละสลวยก่อน แล้วนำมาฝึกฝนให้เกิดทักษะการพูด การพูดจึงจะเป็นที่น่าสนใจแก่ผู้ฟัง
โครงสร้างของการเรียบเรียง
การพูดที่ถูกต้อง จะต้องพูดให้ครบตามโครงสร้างของการพูด ซึ่งมีอยู่  3  ส่วน คือ
1.         คำนำหรือคำเริ่มต้น  ( Introduction )   ประมาณร้อยละ  5  - 10
2.         เนื้อเรื่องหรือสาระของเรื่อง ( Main body ) ประมาณร้อยละ  80  - 90
3.         สรุปจบหรือคำลงท้าย  ( Conclusion ) ประมาณร้อยละ  5  - 10
คำนำหรือคำเริ่มต้น  (Introduction)  
การนำเข้าสู่เนื้อเรื่องเป็นเรื่องสำคัญ ความสนใจหรือความตั้งใจฟัง จะเริ่มจากส่วนนี้ จะต้องได้รับการเตรียมหรือจัดสรรเป็นพิเศษ ควรระวังว่า ไม่เริ่มเรื่องซึ่งขัดต่อความรู้สึกของผู้ฟัง เช่น การตะโกน การทุบโต๊ะ การร้องห่มร้องไห้ ฯลฯ มักจะไม่เป็นผลดีต่อผู้พูด ดังนั้นการเริ่มเรื่องทุกครั้ง ให้คำนึงถึงบรรยากาศของที่ประชุมในขณะนั้นเป็นสำคัญ
การเริ่มต้นแบบไม่ได้ผล พึงหลีกเลี่ยงมี  4  ประการ ดังนี้
           ออกตัว   การเริ่มต้นแบบออกตัว เป็นพฤติกรรมที่ไม่ให้เกียรติผู้ฟัง เพราะเป็นการพูดที่สารภาพกับผู้ฟังว่า ไม่พร้อมที่จะพูด จึงต้องพยายามออกตัวให้ผู้ฟังเห็นใจ การเริ่มต้นเช่นนี้ไม่เป็นผลดีแก่ผู้พูดเลย เช่นเริ่มว่าผมมีความรู้ในเรื่องนี้ไม่มากนักเพราะขาดประสบการณ์หรือผมต้องบอกเสียก่อนว่า ผมไม่มีเวลาเตรียมตัวมาพูดเลย ได้รับเชิญอย่างกะทันหันจริงๆ
           มัวอ้อมค้อม   การมัวพูดในเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง หรือพูดนอกเรื่อง ที่บางทีเราเรียกว่า มัวร่ายทวนหรือ ขี่ม้าเลียบค่ายเป็นการชักแม่น้ำทั้งห้า วุ่นวาย สับสน วกวน
           ยอมถ่อมตน   การถ่อมตนบ้างเล็กน้อย และด้วยความจริงใจ หรือด้วยความสำรวมอย่างแท้จริงก็พอใช้ได้ แต่ไม่ช่วยให้บังเกิดผลดีในการพูด และถ้ายิ่งถ่อมตัวเสียจนเกินเหตุ ย่อมทำให้เกิดความ เอียนหรือ เลี่ยนเสียมากกว่า
           คำขออภัย  ถึงจะขออภัยไว้ล่วงหน้าก่อนพูด หากมีการผิดพลาดเกิดขึ้นก็ไม่อาจที่จะได้รับอภัยจากผู้ฟัง เช่นเนื่องจากผมไม่ใช่นักพูด หากมีสิ่งใดขาดตกบกพร่องต้องขออภัยไว้ ณ ที่นี้..
การเริ่มต้นที่ได้ผล
การเริ่มต้นที่ดี ควรจะสามารถทำให้ผู้ฟังสนใจที่จะฟังด้วย ลีลาถ้อยคำที่เหมาะสม     ตรงประเด็น ชวนติดตาม ทำให้ผู้ฟังเห็นประโยชน์ที่จะได้รับจากการฟังการเริ่มเรื่องควรกระทำดังนี้
           พาดหัวข่าว   การเริ่มต้นแบบนี้มีลักษณะตื่นเต้น เร้าใจ เช่น สิบล้อมรณะ คนขับเมายาบ้าซิ่งแหกโค้งชนรถนักเรียนตายเกลื่อนกลางถนน
           กล่าวคำถาม   เป็นการดึงความสนใจของผู้ฟังให้หยุดสนใจในเรื่องอื่น เช่น ท่านทราบไหมว่า นักศึกษาสอบผ่านกี่คน  และสอบตกกี่คน
           ความสงสัย    การพูดด้วยข้อความกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น สงสัย ข้องใจ หรือไม่น่าเชื่อ มักจะน่าติดตามเสมอ  เช่น เด็กทารกนั่นแหละ เป็นบิดาของผู้ใหญ่
           ให้รื่นเริง   เป็นการพูดเพื่อสร้างบรรยากาศให้ผู้ฟังมีความรู้สึกสนุกในการฟัง 
           เชิงกวี    เป็นการนำสำนวนกวี คำคม สุภาษิต คำพังเพย โคลง กลอน ถ้อยคำเชิงกวีเป็นถ้อยคำหลักแหลม ลึกซึ้ง สามารถพุ่งเข้าสู่จิตใจของผู้ฟังได้อย่างรวดเร็ว 
เนื้อเรื่องหรือสาระของเรื่อง  (Main body)
                        การดำเนินเรื่องที่ดีจะต้องมีความสัมพันธ์กับการเริ่มเรื่อง เรียบเรียงเรื่องอย่างมีระเบียบ เป็นขั้นเป็นตอน มีหลักการเบื้องต้นที่ง่ายสำหรับการปฏิบัติในการเรียบเรียงเรื่อง ดังนี้
เรียงลำดับ จับประเด็น เน้นตอนสำคัญ บีบคั้นอารมณ์ เหมาะสมเวลา
           พูดไปตามลำดับเหตุการณ์หรือเวลา ไม่วกวนกลับไปกลับมา
           เน้นจุดมุ่งหมายของเรื่องเพียงจุดเดียว อย่าออกนอกประเด็น หรือนอกเรื่อง
           เรื่องราวตอนสำคัญต้องเพิ่มน้ำหนักของเสียงหรือลดระดับ พูดย้ำ พูดซ้ำ หรือการหยุดนิดหนึ่งก่อนที่จะถึงข้อความสำคัญ เพียงเพื่อให้เกิดความสนใจเป็นพิเศษ
           มีตัวอย่าง อุทาหรณ์เบาๆสอดแทรกไว้ในตอนต้น จุดสนใจสูงสุดไว้ตอนท้าย
           มีความยืดหยุ่นพร้อมที่จะตัด หรือเพิ่มได้ เมื่อมีเหตุการณ์เฉพาะหน้า
สรุปจบหรือคำลงท้าย  ( Conclusion)
            การสรุปจบเป็นช่วงการพูดที่มีความสำคัญที่สุด การพูดในแต่ละครั้งจะประสบความ สำเร็จมากน้อยขึ้นอยู่กับการสรุปจบเป็นส่วนใหญ่ บ่อยครั้งที่เราพบว่าผู้พูดบางคนพูดมีเนื้อหาสาระดีมาตลอด แต่ไม่อาจสรุปจบให้ประทับใจ ทำให้เรื่องที่พูดมาทั้งหมดด้อยราคาลงไปมาก จึงไม่ควรสรุปจบด้วย การขออภัย  ถ่อมตัว ออกตัว หมดแค่นี้ ไม่มีเวลา ขอจบที ขอยุติที ขอขอบคุณ 
การสรุปจบที่ได้ผลดี  จบแบบ สรุปความ ตามเชิงกวี มีสำนวนขบขัน เปิดเผยตอนสำคัญ     ฝากให้คิด สะกิดชักชวน
           จบแบบสรุปสาระที่สำคัญอย่างสั้นๆ  เช่น ภาษาเป็นสิ่งสำคัญของบ้านเมือง ขอให้ช่วยกันรักษามาตรฐานของภาษาไทย อย่าให้ทรุดโทรม
           จบตามเชิงกวี ด้วยสุภาษิต คำพังเพย โคลง กลอน หรือถ้อยคำคมคาย มากล่าวในตอนจบ เป็นการจบที่เข้าถึงจิตใจผู้ฟัง เกิดคุณค่า เช่น เสรีภาพที่ผอมบาง ย่อมดีกว่าทาสที่อ้วนท้วน
           จบด้วยสำนวนขบขัน ทำให้ผู้ฟังสนุกสนาน และจะจดจำบรรยากาศนั้นได้นานแสนนาน
           จบแบบเปิดเผยตอนสำคัญ      เป็นการพูดเรื่องราวที่ทำให้ผู้ฟังสงสัยว่าเรากำลังพูดถึงอะไร แล้วจึงมาเฉลยให้ผู้ฟังรู้ในตอนสรุปจบ
           จบแบบฝากให้คิด  เช่น ชีวิตมนุษย์ที่จะนับว่าสมบูรณ์มีค่าในตัวเอง และต่อผู้อื่น ไม่ควรจำกัดการศึกษาของตนไว้เพียงที่กฎหมายของรัฐกำหนด แต่ควรศึกษาหาความรู้จนตลอดชีวิตการหยุดนิ่งไม่ขวนขวายหาความรู้อยู่เสมอ ก็เท่ากับทำตนให้ถอยหลังพ้นจากแสงแห่งปัญญา
           จบแบบชักชวนหรือเรียกร้องให้ผู้ฟังเห็นคล้อยตาม ปฏิบัติตาม เช่น “... ในวันแม่แห่งชาติ ทุก ๆท่านคงจะได้ระลึกถึงแม่ ด้วยตระหนักในพระคุณของแม่ .......................
การทำหน้าที่พิธีกร
พิธีกรคือผู้นำด้านพิธีการ
        ผู้ควบคุม หรือกำกับรายการภาคพิธีการ
        รับผิดชอบการดำเนินรายการภาคพิธีการเพียงผู้เดียว (หรือคู่)
        ทำหน้าที่เฉพาะลักษณะงาน เป็นงานๆไป  ทำหน้าที่เฉพาะส่วนพิธีการเท่านั้น
        ทำหน้าที่ตามกำหนด หรือตามรายการเท่านั้น (ไม่ทำนอกรายการ)
        เป็นผู้สร้างและควบคุมบรรยากาศของภาคพิธีการ
        เป็นผู้พูดคนแรกและคนสุดท้ายของภาคพิธีการ
การทำกำหนดการ
            ในการจัดงานพิธีการต่างๆ จะต้องมีการกำหนดขั้นตอนของงานว่า ตอนไหน เวลาใด ใครจะต้องทำอะไร อย่างไร เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยและงานดำเนินไปอย่างราบรื่น ข้อกำหนดดังกล่าว เรียกว่า กำหนดการ” (Program)
            ผู้ทำหน้าที่พิธีกรทุกคนต้องทำ กำหนดการเป็น เพราะกำหนดการของงานเปรียบเสมือนเข็มทิศคอยชี้บอกให้ดำเนินการไปตามขั้นตอน โดยมีหลักการกว้างๆ ดังนี้
1.         รูปแบบของกำหนดการประกอบด้วย ชื่อของงาน สถานที่จัดงาน วันเวลาของพิธีการ ประธานในพิธี การแต่งกายของผู้ร่วมงาน
2.         การกำหนดขั้นตอนของงาน  ว่าเวลาใดทำอะไร เวลาใดเปิดงาน เวลาใดเริ่มพิธีการ ต่อจากภาคพิธีการแล้วจะเป็นภาคอะไร เช่น ภาคบันเทิง เป็นต้น
3.         มีรายละเอียดของแต่ละขั้นตอน  เพื่อกำหนดว่า ใครจะต้องขึ้นมาทำหน้าที่อย่างไร นานเท่าใด เพื่อให้ผู้ที่มีหน้าที่จะต้องทำตามกำหนดการที่ได้ทราบล่วงหน้าก่อนที่จะได้รับเชิญขึ้นเวที
การเตรียมงานของพิธีกร
1.         เตรียมงานเฉพาะงานบนเวที  หมายความว่า คณะกรรมการจัดงานหรือเจ้าภาพ ได้เตรียมลำดับขั้นตอนของงานไว้เรียบร้อยแล้ว พิธีกรเพียงแต่ทำหน้าที่บนเวทีในวันงานเท่านั้น
2.         การเตรียมตลอดงาน  หมายความว่า เจ้าของงานหรือผู้รับผิดชอบการจัดงาน มอบหมายให้ผู้ที่ทำหน้าที่พิธีกร รับผิดชอบทางภาคพิธีการทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มงานจนกระทั่งเสร็จงาน ดังนั้น การเตรียมงานจึงต้องแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน คือ
        การเตรียมก่อนวันงาน
        การเตรียมการปฏิบัติหน้าที่ในวันงาน  และ
        การสรุปหรือการประเมินผลเมื่อเสร็จงาน
บทบาทบนเวทีของพิธีกร
การทำงานหรือการปฏิบัติหน้าที่อันแท้จริงของพิธีกร คือ การแสดงบทบาทบนเวทีนับตั้งแต่เริ่มพิธีไปจนกระทั่งเสร็จพิธี พิธีการจะดีหรือไม่ พิธีกรจะชำนาญไหม สังเกตจากบทบาทบนเวทีเป็นสำคัญ บทบาทของพิธีกรมี 3 ทางคร่าว ๆ คือ ทางใจ ทางกาย และทางวาจา
บทบาททางใจ (Mind Action)
            บทบาททางใจนับว่ามีความสำคัญมาก แม้ว่าจะเป็นเพียงความรู้สึกนึกคิดที่อยู่ภายใน ไม่อาจสัมผัสได้ แต่มีผลต่อบทบาทอื่นๆด้วย สภาพจิตใจของผู้ที่ขึ้นมาปรากฏตัวบนเวที มักต่างจากตอนที่ยังไม่ได้ขึ้นเวที เช่น อาจจะรู้สึกประหม่า หูอื้อ ตาลาย มือสั่น ขาสั่น ปากสั่น หัวใจเต้นแรง สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นเรื่องปกติ มักเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ต้องตกใจ พยายามควบคุมสติ เชื่อมั่นว่า เราพร้อม เราเข้าใจ ในการทำหน้าที่บนเวที ไม่ว่าจะมีอารมณ์ใดมากระทบ ต้องอดทน ไม่วู่วามหรือขาดสติ
            ความรู้สึกต่างๆดังกล่าว ไม่มีหลักการหรือวิชาการใดๆ เป็นสูตรสำเร็จที่จะแนะนำ หรืออบรมที่จะให้ไม่บังเกิดขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความเคยชิน หรือการมีโอกาสได้กระทำ หรือปฏิบัติบ่อยๆ ที่เรียกว่าต้องมี ชั่วโมงบินมากๆ อาการเหล่านั้นจะค่อยๆหายไปเอง
บทบาททางกาย (Body Action)
            บทบาททางกาย มองเห็นได้เป็นรูปธรรม สิ่งที่เป็นรูปธรรม ปรับปรุงให้ดีได้ เช่น
        การแต่งกาย เหมาะเจาะเหมาะสมกับงาน
        จัดท่าทีให้สง่าผ่าเผย สุภาพ ดูเป็นกันเองกับผู้อื่น
        ใบหน้าเบิกบานยิ้มแย้ม
        แววตาเป็นประกายแจ่มใส มองไปยังผู้ฟังให้รู้สึกว่ากำลังพูดอยู่กับผู้ฟังจริงๆ
        ยืนให้มั่นคงก่อนจะกล่าวถ้อยวาจาออกไป
        สำรวมการออกท่าทาง ไม่หลุกหลิก มือไม้ไม่วุ่นวาย
        หลีกเลี่ยงลักษณะก้มๆเงยๆอ่านบท
บทบาททางวาจา (Verbal Action)
            บทบาททางวาจานั้นสำคัญ  ซึ่งมีแนวทางคร่าว คือ
        ใช้ประโยคสั้นๆ เข้าใจง่าย
        ใช้ถ้อยคำสำนวนแบบบรรยายโวหาร ไม่ใช่แบบพรรณนาโวหาร
        กล่าวไปตามบท (ที่เตรียมไว้) ไม่กล่าวนอกบท
        ไม่มีขยะของถ้อยคำ เช่น นะครับ นะคะ นะฮะ เอ้ออ้า อึกอัก  เนี่ย มากเกินไป
        ไม่ใช้ถ้อยคำเปรียบเปรย  ประชดประชัน หยาบโลน  ยกตนหรือถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟังไม่ดี
รูปแบบการพูดของพิธีกร (บนเวที)
            การพูดของพิธีกร มีทั้งการพูดในรูปแบบ และการพูดไม่มีรูปแบบ
            การพูดในรูปแบบ หมายถึง เป็นถ้อยคำสำนวนที่พิธีกรต้องพูด เพราะเป็นแบบเช่นนั้น
            การพูดไม่มีรูปแบบ หมายถึง ถ้อยคำทั่วไปที่พิธีกรจะนำมาพูดหรือไม่นำมาพูดก็ได้ และเวลาพูดจะเรียบเรียงถ้อยคำอย่างไรก็ได้ตามความเหมาะสม
สาระสำคัญที่พิธีกรต้องพูด คือ
1.         คำปฏิสันถาร  (greeting)    คือ การทักทายปราศรัย,การต้อนรับ
2.         ชื่อพิธีการ
3.         ผู้จัดให้มีพิธีการ
4.         วัตถุประสงค์ของพิธีการ
5.         ผู้ทำหน้าที่ประธานในพิธี
6.         คำกล่าว เปิดประชุมและคำกล่าว ปิดประชุม  (บางพิธีหรือบางโอกาส)
7.         แจ้งรายการภาคพิธีการ (บางงานหรือบางโอกาส)
8.         การกล่าวแนะนำบุคคล (บางงานหรือบางโอกาส)
9.         การกล่าวเชิญบุคคลขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนเวทีตามรายการ หรือกำหนดการ
10.       การกล่าวสรุป (บางงานและบางโอกาส)
11.       การกล่าวขอบคุณ (บางงานและบางโอกาส)
การแนะนำบุคคล
            การแนะนำบุคคลเป็นบทบาทสำคัญอย่างหนึ่งของพิธีกร งานบางงานมีบุคคลสำคัญมาร่วมงาน ถ้ามีการแนะนำเท่ากับเป็นการให้เกียรติพิเศษ บางงานพิธีกรจะเป็นผู้แนะนำ บางงานพิธีกรอาจจะกำหนดให้ผู้อื่นเป็นผู้แนะนำ
            บางงาน หากขาดการแนะนำผู้ร่วมโต๊ะ ประธานในพิธี ก็ดูจะทำให้งานขาดความสำคัญ  หรือขาดบรรยากาศที่ดีไป อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าจะต้องมีการแนะนำบุคคลดังกล่าวทุกงานไปก็หาไม่
แนวทางการแนะนำบุคคล
1.         กล่าวถึงความเป็นมาของพิธีการ หรือกิจกรรมอันเป็นเหตุให้มีการเชิญบุคคลที่จะแนะนำ
2.         เป็นความสำคัญหรือความยากง่ายของโอกาสเชิญ (ส่วนมากเน้นว่าเชิญได้ยาก)
3.         กล่าวถึงความสัมพันธ์ของกิจกรรมหรือพิธีการกับผู้ที่ได้รับการแนะนำ
4.         แนะนำเอกลักษณ์หรือลักษณะเด่น (ที่ดี) ของผู้ที่ได้รับการแนะนำ
5.         แนะนำรูปแบบหรือบทบาทของผู้ได้รับการแนะนำ เช่น เทคนิค หรือแนวทางการบรรยาย หรือการแสดง
6.         แนะนำวุฒิการศึกษา ตำแหน่งการงาน ประสบการณ์ ผลงานหรือความสำเร็จที่ภูมิใจ
7.         แนะนำยศ นาม-นามสกุล ในตอนท้าย พร้อมกับกล่าวเชิญ
เทคนิคการสรุป
            การกล่าวสรุปเป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งของพิธีกรในบางงานหรือบางพิธีการ เช่นงานเกี่ยวกับการบรรยาย หรือการอภิปรายทางวิชาการ แต่การสรุปอาจจะเกิดผลดี หรือผลเสียต่อกิจกรรม หรือต่อพิธีการ หรือพิธีกรผู้สรุปก็ได้ ขึ้นอยู่กับหลักเกณฑ์ หรือศิลปะการสรุปของผู้สรุป
            การสรุป มิได้หมายความว่าต้องมีทุกงาน หรือทุกรายการ แล้วแต่ลักษณะของงาน ซึ่งพิธีกรจะต้องใช้ดุลยพินิจตามความจำเป็น หรือตามความเหมาะสม
ลักษณะของการสรุปที่ดี
1.         การสรุป ไม่ใช่การบรรยายซ้อนบรรยาย
2.         สรุปด้วยการเสริมแนวคิดให้สมบูรณ์ หรือเข้มข้นยิ่งขึ้น
3.         สรุปด้วยการยกตัวอย่าง อุทาหรณ์ อุปมาอุปมัย ให้เห็นประเด็นเด่นชัดยิ่งขึ้น
4.         สรุปโดยการตอกย้ำจุดเด่น หรือประเด็นสำคัญ
5.         สรุปด้วยสโลแกน หรือคำคม คำขวัญ
ศิลปะการกล่าวขอบคุณ
            ในงาน หรือพิธีการบางอย่าง ตามกำหนดการของงาน อาจจะกำหนดให้มีการกล่าวขอบคุณบุคคล การกล่าวขอบคุณที่ดีเป็นการแสดงมรรยาทที่ดี และเป็นที่ประทับใจผู้รับการขอบคุณ ในการกล่าวขอบคุณบางกรณีหรือบางงานพิธี พิธีกรอาจจะต้อง
·       กล่าวด้วยตนเองในนามของผู้ร่วมงาน ของหน่วยงาน หรือในนามของเจ้าของงาน
·       อาจจะเชิญบุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมากล่าวขอบคุณก็ได้
แนวทางการกล่าวขอบคุณ
1.         กล่าวทักทายผู้รับการขอบคุณเพียงผู้เดียว
2.         การกล่าว หรือถ้อยคำที่กล่าว ให้รู้สึกว่ากล่าวกับผู้รับการขอบคุณเท่านั้น
3.         แสดงความรู้สึกว่าได้รับเกียรติที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้กล่าวขอบคุณ
4.         กล่าวถึงความประทับใจที่มีต่อบทบาทของผู้รับการขอบคุณ
5.         ลงท้ายด้วยข้อความ ในนามของ........
6.         ไม่ควรชักชวนให้ปรบมือ (หากปรารถนาจะให้มีการปรบมือ พิธีกรจะต้องมีศิลปะลงท้ายคำขอบคุณด้วยถ้อยคำที่ทำให้ผู้ฟัง หรือผู้ร่วมพิธีอยากปรบมือเอง หรือพิธีกรอาจจะใช้วิธีปรบมือนำขึ้นก่อน)
สมาคมฝึกการพูดแห่งประเทศไทย  www.thaispeech.org
วิชาที่สอน
           การใช้ถ้อยคำสร้างภาพพจน์                        การพูดจูงใจ
           หลักการพูดในที่ชุมนุมชน                          ศิลปะการเรียบเรียง
           ศิลปะการแสดงการพูด                                 การสร้างความเชื่อมั่นและการพัฒนาบุคลิกภาพ  
           เทคนิคการนำเสนอ
                        www.st.ac.th/krupu/wp-content/uploads/sites/9/2013/03/Thai-.doc


No comments:

Post a Comment