พระเจ้าทรงสร้างความชั่วร้ายหรือ ?
“เรากำหนดความสว่างและสร้างความมืด เรานำความเจริญและสร้าง ความชั่วร้าย” อสย. 45:7
คำนำ
ขอบคุณพระเจ้าที่ทรงเมตตาให้ข้าพเจ้าได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมอิสยาห์อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นพระธรรมที่น่าศึกษายิ่งเล่มหนึ่ง เป็นพระธรรมที่เข้ากับบริบทของทุกยุคทุกสมัย ข้าพเจ้าได้รับพระพรอย่างมากมายในการทำรายงานชิ้นนี้ แม้ว่ารายงานนี้อาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างก็ตาม แต่แหล่งที่มาของข้อมูลสำหรับทำรายงานนี้เป็นที่เชื่อถือได้อย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระคริสตธรรมคัมภีร์ และคู่มืออธิบายพระคัมภีร์ที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาดูนั้นเป็นแหล่งสำคัญยิ่ง ซึ่งผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมดู และเชื่อว่าจะได้รับพระพรเพิ่มเติมยิ่งขึ้น
แนวทางของรายงานนี้มุ่งเน้นข้อมูลต่าง ๆ จากแหล่งสำคัญที่กล่าวมาแล้วนั้นเป็นหลัก และข้อมูลทั่ว ๆ ไปเป็นส่วนเสริม เนื้อหารายงานพยาาม
บทนำ
“ทำไมจึงเป็นเช่นนี้ได้” “ทำไมพระเจ้าจึงยอมให้เกิดเรื่องเช่นนี้ได้!” คำถามลักษณะนี้เกิดขึ้นมากมายเมื่อมีโศกนาฏกรรมจากภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น ปี1931ในประเทศจีนเกิดน้ำท่วมใหญ่จากแม่น้ำแยงซีเกียงทำให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 3,700,000 คน[1] การติดตามข้อมูลจากสำนักงานเลขาธิการยุทธศาสตร์นานาชาติเพื่อการบรรเทาภัยพิบัติแห่งสหประชาชาติ (UN/ISDR ) เราได้เห็นถึงสถิติของการสูญเสียอันมหาศาล ครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อชีวิตของผู้คน และทรัพยากรธรรมชาติตั้งแต่อดีตมาจนถึง ณ วันนี้ มนุษย์เรามักต้องการคำตอบที่มีความหมายทางจิตใจ มากกว่าคำอธิบายในรูปแบบวิทยาศาสตร์ เช่น พวกนักธรณีวิทยาสายวิวัฒนาการเชื่อว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาตินั้นเกิดจาก “การค่อยเป็นค่อยไป เมื่อถึงจุดหนึ่งก็มีการตกตะกอนอย่างรวดเร็วในสัดส่วนขนาดใหญ่ นั่นคือภัยพิบัติ”[2] คำอธิบายนี้แม้จะถูกต้องทางวิชาการ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะเยียวยาความทุกข์ของผู้สูญเสียได้ เพราะหลักเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์นั้นตอบเฉพาะคำถามที่ว่า “อย่างไร” โดยไม่สนใจที่จะตอบคำถามว่า “ทำไม” ที่เป็นเช่นนี้ เพราะลึกลงไปแล้วมนุษย์เชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นน่าจะต้องมีเหตุผลไม่ลักษณะใดก็ลักษณะหนึ่ง
ปัญหาการดำรงอยู่ของภัยพิบัติ ความทุกข์ ความชั่วร้าย และความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ เป็นโจทย์เก่าแก่ที่ทุกๆ ศาสนาก็ได้พยายามให้คำตอบแก่มนุษย์เช่นเดียวกับทางวิทยาศาสตร์ เช่น ทางเทววิทยาซึ่งวนเวียนให้มนุษย์หาทางอธิบายด้วยทฤษฎีต่างๆ มาแต่อดีต จนถึงกับมีการบัญญัติศัพท์ทางวิชาการที่ “นักปรัชญาศาสนาและเทววิทยาใช้เรียกโจทย์นี้ว่า Theodicy” [3] นักคิดทางสังคมศาสตร์ได้ศึกษาเปรียบเทียบปรัชญาศาสนาต่างๆ และได้แสดงให้เห็นว่า ศาสนาต่างๆ ตอบคำถามเรื่องการดำรงอยู่ของภัยพิบัติ ความชั่วร้าย ความทุกข์ และความอยุติธรรมไว้ไม่เหมือนกัน เช่น พิจารณาจากศาสนาฮินดู หรือลัทธิพราหมณ์ซึ่งถือว่ามีพระเจ้าหรือเทพมากมายที่ทำหน้าที่แตกต่างกัน เทพที่สำคัญคือ พระพรหม ผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการทรงสร้าง พระวิษณุหรือเทพเจ้าแห่งการบำรุงรักษา และพระศิวะผู้เป็นเทพเจ้าแห่งการทรงทำลายล้าง เป็นต้น สรรพสัตว์สรรพสิ่งจึงถูกสร้างขึ้นและได้รับการบำรุงรักษา หรือบาง ครั้งก็ถูกทำลายลง เพื่อที่จะสร้างขึ้นใหม่เป็นวัฏจักรเช่นนี้เรื่อยไป ปัญหาจากภัยธรรมชาติ ความชั่วร้าย ความทุกข์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จึงอาจจะเข้าใจได้ไม่ยากในความคิดของผู้คนทั่วไปว่า เกิดจากวงจรอำนาจของเทพที่สลับผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทำหน้าที่ ส่วนความคิดทางกรีกนั้นเชื่อว่าเทพเจ้าของกรีกมีมากมายมหาศาล และมีการแบ่งบทบาทหน้าที่ต่อสรรพสัต์สรรพสิ่งเช่นเดียวกับความคิดของลัทธิพราหมณ์ ในขณะที่คติความเชื่อแบบพื้นบ้านทั้งของไทยเราและชนเผ่าอื่น ๆ ซึ่งนับถือผี เทพ หรือเจ้าต่างๆ นั้น เชื่อว่าสิ่งต่างๆเกิดจากอำนาจของผี เทพ หรือเจ้า ซึ่งผีนั้นบางทีก็มีเหตุผล บางทีก็ไม่มีเหตุผล เทพก็ดูจะทรงพิโรธได้ง่ายๆ เช่น เดียวกับเจ้าที่ต้องคอยเซ่นไหว้เอาอกเอาใจ พูดง่ายๆ ว่าเอาแน่เอานอนกับท่านไม่ค่อยได้ คติพื้นบ้านเหล่านี้จึงยอมรับได้ว่าภัยพิบัติย่อมเกิดขึ้นได้ และมนุษย์นั้นมีชะตากรรมที่ไม่แน่ไม่นอน เพราะชีวิตเราขึ้นอยู่กับความไม่มีเหตุผลพอๆ กับความมีเหตุผล การยอมรับว่าชีวิตเป็นสิ่งที่เอาแน่เอานอนไม่ได้และมนุษย์ไม่สามารถที่จะรู้ไปเสียหมดทุกสิ่ง ทำให้คนทั้งหลายมีท่าทีต่อชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง ส่วนคำสอนทางพุทธนั้นจะปลอบประโลมใจให้ยอมรับว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นแก่มนุษย์เรานั้น สืบเนื่องมาจากบุญและกรรมที่ได้สั่งสมไว้ในอดีตชาติเป็นสาเหตุและ “จากการห่างไกลธรรมของคน (จึงก่อให้เกิดภัยพิบัติทั้งหลาย ซึ่งนำความทุกข์มายังผู้คน) เพราะธรรมเป็นเครื่องมือสร้างคน สร้างชาติ สร้างโลก” [4] เมื่อโลกปราศจากซึ่งธรรมภัยพิบัตย่อมเกิดขึ้น
ในแวดวงศาสนาที่เรียกว่าเอกเทวนิยม หรือศาสนาที่นับถือพระเจ้าองค์เดียว เช่น ยิว อิสลาม และ คริสเตียน ซึ่งเชื่อว่าพระผู้เป็นเจ้าทรงมีอำนาจเหนือทุกสิ่ง เพราะพระองค์ทรงสร้างโลกและสรรพชีวิตทั้งมวล รวมทั้งทรงบัญญัติกฎธรรมชาติทั้งหลายด้วย ไม่เพียงแต่พระเจ้าจะมีทรงอำนาจเหนือทุกสิ่ง (Omnipotent) และปรากฏอยู่ทุกหนแห่ง (Omnipresent) พระองค์ยังทรงไว้ซึ่งคุณธรรมความยุติธรรม (คือมีเหตุผล) และมีพระเมตตาอย่างที่สุดด้วย ปัญหาก็คือว่า ถ้าพระองค์ทรงเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมโลกนี้จึงเต็มไปด้วยความทุกข์ ทำไมต้องมีสงครามที่เข่นฆ่าเด็ก ๆ ผู้ไร้เดียงสา หรือทำร้ายประชาชนที่ไม่รู้อิโหน่ อิเหน่ ทำไมพระองค์ไม่ทำให้ความชั่วร้ายหมดไปจากโลก และให้โลกมีแต่ความยุติธรรมและสันติสุข ยิ่งในกรณีโศกนาฏกรรมที่เกิดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่นพายุใหญ่ที่พัดโหมกระหน่ำทำลายทรัพย์สินและชีวิตของผู้คนครั้งแล้วครั้งเล่าในหลาย ๆ ประเทศ แผ่นดินไหวในหลาย ๆแห่งทำให้ผู้คนต้องสูญเสียชีวิตเป็นหมื่น แสน และล้าน เกือบครึ่งหนึ่งของผู้ตายเป็นเด็กๆ ยิ่งเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจ คำอธิบายที่มักพูดกันง่ายๆ ว่าพระเจ้าลงโทษ ดูจะใช้ไม่ได้สำหรับความตายของเด็กๆ จำนวนมากมายเหล่านั้น เพราะเราไม่เชื่อและไม่คิดว่าเด็กเหล่านี้จะได้ทำผิดอะไรใหญ่หลวงจึงต้องมาเผชิญชะตากรรมเช่นนี้ ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว “ทำไมพระเจ้าจึงยอมให้เกิดเรื่องเหล่านั้นได้ !” “พระองค์ทรงสร้างความชั่วร้ายหรือเปล่า?” ดังที่อิสยาห์ได้กล่าวว่า “เราปั้นความสว่างและสร้างความมืด เราทำโชคและสร้างวิบัติ เราคือพระเจ้า ผู้กระทำสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น” (45:7)
พระเจ้าทรงสร้างหรือเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้ายใช่ไหม?
มีหลายคนบอกว่า “เพราะพระเจ้าทรงเป็นผู้สร้างสรรพสิ่งทั้งปวง ดังนั้นพระองค์ก็ต้องสร้าง
ความชั่วร้ายด้วย” แต่แท้จริงแล้วความชั่วร้ายไม่ใช่ “สรรพสิ่ง” เช่นสัตว์ หรือสิ่งของ ความชั่วร้ายไม่มีรูปร่างให้เราเห็นได้ ความชั่วร้ายไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง เมื่อพระเจ้าทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวงเสร็จแล้วพระคัมภีร์บอกว่า “พระเจ้าทอดพระเนตรสิ่งทั้งปวงที่พระองค์ทรงสร้างไว้ ทรงเห็นว่าดีนัก…” (ปฐก.1:31) หนึ่งในสิ่งดี ๆ ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นมาคือ มนุษย์ที่มีเสรีภาพในการเลือก แต่เพื่อที่จะให้มีการเลือกอย่างแท้จริงขึ้น พระเจ้าจึงจำเป็นที่จะต้องอนุญาตให้มีอะไรนอกเหนือจากสิ่งที่ดี ๆ เกิดขึ้นด้วย แล้วพระองค์จึงทรงอนุญาตให้ทูตสวรรค์และมนุษย์ที่เป็นอิสระได้เลือกสิ่งที่ดีหรือไม่ดี (ชั่วร้าย) เมื่อความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้นระหว่างสิ่งที่ดี ๆ สองสิ่ง เราเรียกมันว่าความชั่วร้าย ความชั่วร้ายจึงไม่ใช่ “สรรพสิ่ง” ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นมา ดังนั้นความชั่วร้ายคือ การหายไปของความดี หรือจะพูดให้ชัดเจนก็คือ ความชั่วร้ายคือการหายไปของพระเจ้า พระเจ้าไม่จำเป็นที่จะต้องทรงสร้างความชั่วร้าย เพียงแต่พระองค์ทรงอนุญาตให้ความดีหายไปเท่านั้น
หากไม่ทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้ายเกิดขึ้น มนุษย์และทูตสวรรค์คงต้องปรนนิบัติพระเจ้าด้วยความจำยอมโดยไม่มีทางเลือก การทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้ายเกิดขึ้นก็เพื่อว่ามนุษย์จะได้มีอิสระอย่างแท้จริงในการเลือกว่าจะปรนนิบัติพระองค์หรือไม่ พระเจ้าจึงทรงนำต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วมาไว้ในสวนเอเดน เพื่อให้อาดัมและเอวามีทางเลือกที่จะเชื่อฟังพระ องค์หรือไม่เชื่อฟัง อาดัมและเอวามีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่เขาทั้งสองต้องการ นอกจากผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วเท่านั้นที่เขาทั้งสองถูกห้ามไม่ให้กิน (ปฐก. 2:16-17) ถ้าพระ เจ้าไม่ทรงให้อาดัมและเอวามีทางเลือก เขาทั้งสองก็จะเป็นเหมือนหุ่นยนตร์ที่เพียงแค่ทำตามโปรแกรมที่ถูกตั้งมาเท่านั้น แต่พระเจ้าทรงสร้างอาดัมและเอวาให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มี “อิสระ” มีความสามารถในการตัดสินใจ มีความสามารถในการเลือก ดังนั้นเพื่อที่อาดัมและเอวาจะมี“อิสระ”อย่างแท้จริงเขาจะต้องมีทางเลือก
ไม่มีอะไรชั่วร้ายเกี่ยวกับต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว หรือผลของมันก็ไม่มีประโยชน์หรือโทษเลย การกินผลของมันก็ไม่ได้ทำให้อาดัมและเอวาตายทันที แต่ท่าทีของการไม่เชื่อฟังพระเจ้าต่างหากที่นำความบาปและความชั่วร้ายเข้ามาในโลกและในชีวิตของเขาทั้งสอง และนำไปสู่ความตาย การกินผลไม้ อันเป็นการกระทำที่ไม่เชื่อฟังพระเจ้า คือสิ่งที่ทำให้อาดัมและเอวารู้จักกับความชั่วร้าย และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า กลายเป็นคนบาป
หากไม่ทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้ายเกิดขึ้น มนุษย์และทูตสวรรค์คงต้องปรนนิบัติพระเจ้าด้วยความจำยอมโดยไม่มีทางเลือก การทรงอนุญาตให้มีความชั่วร้ายเกิดขึ้นก็เพื่อว่ามนุษย์จะได้มีอิสระอย่างแท้จริงในการเลือกว่าจะปรนนิบัติพระองค์หรือไม่ พระเจ้าจึงทรงนำต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วมาไว้ในสวนเอเดน เพื่อให้อาดัมและเอวามีทางเลือกที่จะเชื่อฟังพระ องค์หรือไม่เชื่อฟัง อาดัมและเอวามีอิสระที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่เขาทั้งสองต้องการ นอกจากผลไม้จากต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่วเท่านั้นที่เขาทั้งสองถูกห้ามไม่ให้กิน (ปฐก. 2:16-17) ถ้าพระ เจ้าไม่ทรงให้อาดัมและเอวามีทางเลือก เขาทั้งสองก็จะเป็นเหมือนหุ่นยนตร์ที่เพียงแค่ทำตามโปรแกรมที่ถูกตั้งมาเท่านั้น แต่พระเจ้าทรงสร้างอาดัมและเอวาให้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มี “อิสระ” มีความสามารถในการตัดสินใจ มีความสามารถในการเลือก ดังนั้นเพื่อที่อาดัมและเอวาจะมี“อิสระ”อย่างแท้จริงเขาจะต้องมีทางเลือก
ไม่มีอะไรชั่วร้ายเกี่ยวกับต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว หรือผลของมันก็ไม่มีประโยชน์หรือโทษเลย การกินผลของมันก็ไม่ได้ทำให้อาดัมและเอวาตายทันที แต่ท่าทีของการไม่เชื่อฟังพระเจ้าต่างหากที่นำความบาปและความชั่วร้ายเข้ามาในโลกและในชีวิตของเขาทั้งสอง และนำไปสู่ความตาย การกินผลไม้ อันเป็นการกระทำที่ไม่เชื่อฟังพระเจ้า คือสิ่งที่ทำให้อาดัมและเอวารู้จักกับความชั่วร้าย และเสื่อมจากพระสิริของพระเจ้า กลายเป็นคนบาป
ตัวอย่างจากชีวิตของโยบ (โยบ 1-2) ก็เช่นกัน พระเจ้าทรงอนุญาตให้ซาตานทำทุกอย่างนอกจากเอาชีวิตเขา ทรงอนุญาตให้สิ่งนี้เกิดขึ้นเพื่อพิสูจน์ให้ซาตานเห็นว่าโยบเป็นคนชอบธรรมเพราะความรักที่เขามีต่อพระเจ้า ไม่ใช่เพราะพระพรที่เขาได้รับ พระเจ้าทรงยิ่งใหญ่สูงสุด และทรงควบคุมทุกสิ่งที่เกิดขึ้น ซาตานไม่สามารถทำอะไรได้เลยหากมันไม่ได้รับ “อนุญาต” จากพระเจ้า ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงสร้างความชั่วร้ายแต่ทรงอนุญาตให้มันเกิดขึ้น
ถ้าเช่นนั้นถ้อยคำของอิสยาห์ที่ว่า “เราปั้นความสว่างและสร้างความมืด เราทำโชคและสร้างวิบัติ (ความชั่วร้าย) เราคือพระเจ้า ผู้กระทำสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ่ง” นั้นมีความหมายอย่างไร?
พระคัมภีร์ข้อนี้อาจจะทำให้บางคนมองว่า พระเจ้าทรงเป็นผู้สร้างหรือต้นเหตุของวิบัติหรือความชั่วร้าย ดังนั้นพระองค์จึงทำผิดด้านศีลธรรมด้วย เราจะตอบความคิดเช่นนี้อย่างไร อะไรคือความหมายที่แท้จริงที่อิสยาห์หมายถึง
เบื้องหลังของพระธรรมข้อนี้
ในช่วงต้นของพระธรรมบทนี้ พระเจ้าทรงสำแดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงครอบครองอยู่เหนือ
บรรดาประชาชาติ โดยเฉพาะสิทธิอำนาจของพระองค์ในการจัดการกับคนของพระองค์ นั่นคืออิสราเอล พระองค์ได้ทรงอวยพระพรแก่พวกเขาอย่างมากมาย แต่พวกเขาได้หันหลังให้กับพระองค์ครั้งแล้วครั้งเล่า และมอบตัวของพวกเขาทั้งหลายให้กับรูปเคารพ ซึ่งปราศจากอำนาจใด ๆ ที่จะอวยพระพรมนุษย์ได้ การนมัสการ กราบไหว้ของพวกเขาเป็นการเปล่าประโยชน์ พวกเขาช่างปราศจากความเข้าใจอย่างไม่น่าเชื่อ ผลสุดท้ายอาณาจักรของยูดาห์จะต้องพบกับการลงโทษโดยผ่านทางอาณาจักรบาบิโลน แต่อย่างไรก็ตามในที่สุดพระเจ้าจะทรงอภัยโทษบาปคนของพระองค์และนำพวกเขาทั้งหลายกลับมายังบ้านเกิดเมืองนอนของพวกเขาอีกครั้งหนึ่ง
ผู้ที่จะเป็นคนรับใช้ให้แผนการอันบริสุทธ์ของพระองค์สำเร็จจะเป็นกษัตริย์ไซรัสแห่งเปอร์เซีย ซึ่งพระเจ้าได้ทรงกำหนดพระองค์ไว้ก่อนล่วงหน้าที่พระองค์จะเกิดมาร้อยกว่าปี ในการเชื่อมโยงถึงบทบาทของไซรัสเพื่อแผนการพระเจ้า เราได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า พระองค์ทรงครอบครองอยู่เหนือพิภพ อิสายาห์ได้ป่าวประกาศว่าไม่มีใครเหมือนพระองค์ “เราเป็นพระเจ้า และไม่มีอื่นใดอีก นอกจากเราไม่มีพระเจ้า เราคาดเอวเจ้า แม้เจ้าไม่รู้จักเรา” (ข้อ 5) ดังนั้นพระองค์จึงได้ยืนยันว่า“เรากำหนดความสว่าง(เช่น การควบคุมธรรมชาติ) และสร้างความมืด เรานำความเจริญและสร้างความชั่วร้าย (เช่นการครอบครองอยู่เหนือประชาชาติ) เราคือพระเจ้าผู้ทรงกระทำสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น” อสย. 45:7
จากคำประกาศอันอัศจรรย์นี้ทำให้เราได้เห็นถึงความจริงที่สำคัญยิ่ง พอจะกล่าวอย่างสังเขปดัง ต่อไปนี้
1. พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแต่องค์เดียว ทรงเป็นอยู่ก่อนที่พระอื่นใด ๆ จะถูกสร้าง และพระองค์จะยังคงดำรงอยู่ตลอดไป หลังจากรูปเคารพพินาศไปสิ้น (43:10)
2. มนุษย์มักจะหลงผิด ดังเช่นคำกล่าวของบาบิโลนที่คิดว่าตนไม่เหมือนกับชนชาติใดทั้งสิ้น “ข้านี่
แหละ และไม่มีผู้ใดอื่นอีก” (อสย. 47:8,10) พระเจ้าต่างหาก ทรงเป็นพระองค์เอง (เอกลักษณ์)
ทั้งพระ (รูปเคารพ) ก็ไม่อาจจะเปรียบปานพระองค์ได้ (45:5-6,14,18,21-22)[5]
3. โดยฤทธิ์อำนาจของพระองค์ พระองค์จะทรงสนับสนุนกษัตริย์ไซรัส ซึ่งไม่รู้จักพระองค์และ
ความจริงของพระองค์ อย่างไรก็ตามเพื่อทำตามแผนงานของพระองค์ให้สำเร็จ พระองค์ได้
ดำเนินการใด ๆไม่มี ใครสามารถทำให้ย้อนกลับหรือขัดขวางแผนการของพระองค์ได้ (ยบ. 42:2)
4. ผลจากฤทธิ์อำนาจของพระเจ้าในการปลดปล่อยคนของพระองค์ พระนามของพระองค์ย่อมจะเป็นที่เลื่องลือไปตั้งแต่จากทิศตะวันออกจรดตะวันตก (ทั่วโลก) (43:11;44:6;46:9)
5. ฤทธิ์อำนาจแห่งการทรงสร้างและการจัดเตรียมของพระองค์ สำแดงถึงความเป็นพระเจ้าของพระองค์อย่างชัดเจน พระเทียมเท็จเหล่านั้นทำอะไรไม่ได้ ช่วยใครให้รอดไม่ได้ ไปไหนก็ไม่ได้นอกจากนั้นยังเป็นภาระให้ผู้คนแบกหาม ในที่สุดก็ต้องตกไปเป็นเชลยเช่นเดียวกับผู้ที่กราบไหว้ (40:18-20;41:7;44:9-20;45:16,20;46:1-9)
ลักษณะการใช้คำมีความหมายพิเศษ
เช่น คำว่า “พระเจ้า” (เอล) อาจจะหมายถึงพระเจ้าเที่ยงแท้ที่เรากล่าวถึง (ยน.1:1) หรือคำนี้อาจจะนำมาใช้กับสิ่งเทียมเท็จที่มนุษย์กราบไหว้ ซึ่งหาได้เป็นพระเจ้าเที่ยงแท้ไม่ (1คร.8:4-6) คำว่า “ถิ่นทุรกันดาร” หรือ “ทะเลทราย” (อสย 40:3) อาจจะหมายถึงที่ที่ไม่มีน้ำ หรืออาจจะหมายถึงสังคมหรือชีวิตความเป็นอยู่ที่ขาดพระพร และปราศจากพระเจ้าก็ได้ คำบางคำแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนกำลังวาดภาพจักรวาลตามความเข้าใจของคนสมัยนั้น ซึ่งเป็นคนละอย่างกับเราเข้าใจในปัจจุบันนี้ เช่นผู้เขียนได้บรรยายว่า “พระเจ้าทรงขึงฟ้าสวรรค์เหมือนขึงม่าน” (อสย.40:22) เพราะท่านอาจจะคิดว่าโลกนี้แบนและมีหลังคา แต่ก็ไม่เห็นต้องเป็นปัญหาสำหรับเรา เพราะปัจจุบันนี้เรารู้ความจริงเรื่องโครงสร้างของโลกและตำแหน่งที่มันลอยอยู่ในจักรวาลมากขึ้น ถ้าเราพิจารณาข้อนี้ให้ถ้วนถี่แล้ว เราก็จะเห็นว่าผู้เขียนไม่ได้พยายามจะสอนเรื่องภูมิศาสตร์แต่ประการใด แต่ท่านต้องการสื่อถึงเรื่องพระเจ้ามากกว่า ว่าพระองค์ทรงใช้ฤทธานุภาพของพระองค์เสมอเพื่อทำให้โลกเป็นสถานที่รื่นรมย์น่าอยู่[6]
ลักษณะคำจากตัวอย่างเหล่านี้มีมากมายในพระคัมภีร์ ซึ่งคำๆ หนึ่งมักจะมีความหมายได้หลายอย่าง แต่อย่างไรก็ตามเราจะต้องศึกษาดูสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกันในบริบทของเรื่องที่เรากำลังศึกษาอยู่นั้นว่าแท้จริงผู้เขียนต้องการสื่อเกี่ยวกับประเด็นอะไรกันแน่ ในทำนองเดียวกันคำว่า “ความชั่วร้าย” ในที่นี่ก็สามารถใช้ได้ในหลายความหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับเรื่องราวลักษณะไหนที่ผู้เขียนกำลังต้องการสื่อ ในภาษาฮีบรูคำว่า “רע” (ลาอา) ก็ยังมาจากรากศัพท์ซึ่งมีความหมายว่า “ทำให้เสีย, ทำให้เสื่อมเสีย, ปล้นชิง” หรือ “ทำให้แตกเป็นชิ้น ๆ” เช่น “โลกแตกสลาย (ลอาอ์) สิ้นเชิงแล้ว โลกแตกเป็นเสี่ยงๆ โลกถูกเขย่าอย่างรุนแรง” (อสย. 24:19) “มีผู้หนึ่งผู้ใดหัก (ลโลอา) เหล็กได้หรือ คือเหล็กจากทิศเหนือและทองสัมฤทธิ์”(ยรม.15:12)
เราจึงพอจะแยกแยะหลักในการใช้คำนี้ได้คร่าว ๆ ดังต่อไปนี้
เราจึงพอจะแยกแยะหลักในการใช้คำนี้ได้คร่าว ๆ ดังต่อไปนี้
1. คำว่า “ชั่วร้าย” มีความหมายเล็งถึงการทำชั่วในแง่ศีลธรรม เช่นอิสยาห์หรือผู้เผยพระวจนะหลาย ๆ ท่านได้พยายามตักเตือนชนชาติอิราเอลให้หันกลับจากการดื้อดึง การทำบาปผิดในแง่ศีลธรรม โดยใช้คำว่า “ชั่วร้าย” เช่นตั้งแต่ช่วงต้นของอิสยาห์ก็ได้กล่าวย้ำเรื่อนี้ “ จงชำระตัว จงทำตัวให้สะอาด จงเอากรรมชั่วของเจ้าออกไปให้พ้น จากสายตาของเรา จงเลิกกระทำชั่ว” (อสย.1:16) พวกเขาผูกติดกับความชั่วร้ายด้วยเชือก (พัวพันติดลึกอยู่ในความบาป) เห็นความชั่วเป็นสิ่งดี เพราะความชั่วร้ายของคนของพระเจ้าเองได้นำความหายนะมาถึงตัวเขาเอง[7] จนถึงช่วงสุดท้ายของการเผยพระวจนะคนของพระเจ้าก้ยังไม่ได้หันกลับจากทางแห่งความชั่วร้าย “แต่เจ้าได้กระทำสิ่งที่ชั่วร้ายในสายตาของเรา และเลือกสิ่งที่เราไม่ปีติยินดีด้วย” เราก็จะเลือกความทุกข์ใจให้เขาด้วย และนำสิ่งที่เขากลัวมาให้เขา เพราะเมื่อเราได้เรียก ไม่มีสักคนหนึ่งตอบ เมื่อเราพูด เขาไม่ฟัง แต่เขาได้กระทำความชั่วร้ายในสายตาของเรา และเลือกสิ่งซึ่งเราไม่ปีติยินดีด้วย” (อสย.65:12;66:14) เปรียบเทียบ อสค.(20:39,43-44) พระเยซูคริสต์ได้ตรัสถึง “ความคิดชั่วร้าย” ซึ่งสำแดงออกด้วยการกระทำผิดในหลาย ๆ อย่าง เช่น การล่วงประเวณี การลักทรัพย์ การฆ่าคน เป็นต้น (มก. 7:21-23)
2. ในอีกด้านหนึ่งคำว่า “ความชั่วร้าย” สามารถหมายถึง ความหายนะ หรือภัยพิบัติ ในบางกรณี การพิพากษาที่จะตกมาเหนืออิสราเอลต่อความผิดบาปของพวกเขา เราจะเห็นว่าอิสยาห์ได้ใช้คำว่า “ชั่วร้าย” ซึ่งใช้คู่ (อธิบายความหมายที่ตรงข้ามกัน) กับคำว่า “สันติภาพ” เพื่อย้ำให้เราเห็นว่าพระเจ้าทรงมีอำนาจที่จะทำให้เกิดสันติภาพในสังคม หรือทรงนำมาซึ่งความชั่วร้าย (เช่น การพิพากษา การทำลาย) เมื่อเราได้
สังเกตคำนี้ที่ใช้ในที่อื่น ๆ เมื่อพระเจ้าทรงตักเตือนคนอิสราเอลว่า ถ้าหากว่าพวกเขาทำพันธมิตรกับอียิปต์ พระองค์จะทรงนำ “ความชั่วร้าย” มาเหนือพวกเขา เช่น การลงโทษ (อสย. 31:1-2) เช่นเดียวกันในการกล่าวถึง การพิพากษาลงโทษบาบิโลน อิสยาห์ได้กระกาศว่า “เจ้ารู้สึกมั่นอยู่ในความอธรรมของเจ้า เจ้าว่า “ไม่มีผู้ใดเห็นข้า” สติปัญญาของเจ้าและความรู้ของเจ้าทำให้เจ้าเจิ่นไป และเจ้าจึงว่าในใจของเจ้าว่า ข้านี่แหละ และไม่มีผู้ใดอื่นอีก ดังนั้นความชั่วร้ายจะตกมาเหนือเจ้าจะไม่อาจจะรู้ที่มาของมัน และภัยพิบัติจะตกอยู่เหนือเจ้า เจ้าจะไม่อาจคลาดแคล้ว และความพินาศจะมาถึงเจ้าทันที โดยที่เจ้าไม่รู้เรื่องเลย” (อสย.47:10,11) ดังนั้นความชั่วร้ายที่พระเจ้าทรงนำมาก็คือ ภับพิบัติ ซึ่งภัยพิบัตินั้นก็เหมาะสมกับความชั่วร้ายของบาบิโลน
3. ในบางครั้งคำว่า “ความชั่วร้าย” คำเดียวกันนี้ ยังหมายถึงความบกพร่อง ความเจ็บป่วยทางร่างกาย กษัตริย์ซาโลมอนได้กล่าวเตือนใจคนที่อยู่ในวัยหนุ่มว่า “ในปฐมวัยของเจ้า เจ้าจงระลึกถึงพระผู้เนรมิตสร้างของเจ้า ก่อนที่ยาม ทุกข์ร้อน (ร้าย) จะมาถึง และปีเดือนใกล้เข้ามา เมื่อเจ้าจะกล่าวว่า “ข้าไม่มีความเพลิดเพลินในปีเดือนนั้นเลย” (ปญจ.12:1) ดูข้อ 3-7
4. นักวิชาการหลายท่านยังเห็นว่าคำว่า “ความชั่วร้าย” ในที่นี่สามารถใช้ในความหมายทั่ว ๆ ไปซึ่งหมายถึงการทำอันตรายต่อร่างกาย เช่น “สัตว์เหล่านั้นจะไม่ทำ ความชั่วร้าย หรือทำลายทั่วภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของเรา เพราะว่าแผ่นดินโลก จะเต็มไปด้วยความรู้เรื่องของพระเจ้า ดั่งน้ำปกคลุมทะเลอยู่นั้น” (อสย.11:9) คนชั่วร้ายวางแผนอุบายที่ทำร้ายผู้อื่น (ด้วยอาวุธที่ชั่วร้ายของเขา) “อุบายของคนถ่อยก็ ชั่วร้าย เขาคิดขึ้นแต่กิจการชั่ว เพื่อทำลายคนยากจนด้วยถ้อยคำเท็จ แม้ว่าเมื่อคำร้องของคนขัดสนนั้นถูกต้อง” (อสย.32:7) “เท้าของเขาวิ่งไปหา ความชั่ว และเขาเร่งไปหลั่งโลหิตไร้ความผิดให้ถึงตาย ความคิดของเขาเป็นความคิดชั่ว การล้างผลาญและการทำลายอยู่ในหนทางของเขา” อสย.59:8 เมื่อกองทัพบาบิโลนเข้าล้อมกรุงเยรูซาเล็มอยู่หนึ่งปีครึ่ง (ประมาณปี 587 กคศ.)[8] กองทัพบาบิโลนได้เข้าทำทารุณกรุงเยรูซาเล็ม เผาทำลายจนไม่เหลือชิ้นดี จับประชาชนไปเป็นเชลย เหลือไว้แต่คนยากจนหรือคนที่บาบิโลนเห็นว่าใช้ทำงานไม่ค่อยได้ พระเจ้าทรงคุ้มครองเยเรมีย์ผู้เผยพระวจนะของยูดาห์ (หลังจากอิสายาห์ประมาณร้อยปี) และชาวแอฟริกาอีกคนหนึ่งตลอดการโจมตีของบาบิโลน ตามที่ทรงสัญญาไว้ (ยรม.39:8)[9] เนบูคัดเนสซาร์พระราชาแห่ง บาบิโลนได้ประทานบัญชาเกี่ยวด้วยเยเรมีย์ทางเนบูซาระดานผู้บัญชาการทหารรักษาพระองค์ว่า “จงรับท่านไป ดูแลท่านให้ดี และอย่าทำอันตรายแก่ท่าน แต่จงกระทำแก่ท่านตามที่ท่านบอกให้” จากเรื่องของเยเรมีย์นี้ทำให้เราระลึกถึงคำเผยพระวจนะของอิสยาห์ที่ว่า “เจ้าเชื่อฟังถ้าพระบัญญัติของพระองค์ จะไม่ต้องตกไปเป็นเชลย แต่จะมีสันติสุข (ความสุขสมบูรณ์) (41:14) ลูก ๆ ก็ไม่ต้องถูกฆ่าตายเลย[10]
พระลักษณะของพระเจ้า
การศึกษาดูพระลักษณะของพระเจ้าตลอดในพระคัมภีร์ ถ้าเราจะกล่าวว่า “พระเจ้าสร้างสิ่งที่ชั่วร้ายหรือในพระองค์มีสิ่งที่ชั่วร้าย” ย่อมขัดแย้งกับพระลักษณะพระเจ้า เพราะพระองค์ทรงสัตย์ซื่อห่างไกลจากมลทินทางด้านคุณธรรมทั้งปวง (ฉธบ.32:4) ความชั่วร้ายจะอยู่กับพระองค์ไม่ได้ เพราะพระองค์มิได้ปิติยินดีความชั่วร้าย (สดด. 5:4) พระคัมภีร์พูดถึงไฟควบคู่ไปกับความบริสุทธิ์ ทรงเป็นพระเพลิงที่เผาผลาญความบาปผิด (อิสยาห์ 5:19, 6:3, 12:9, 40:25, 43:3; ฮะบากุก 1:13; อพยพ 3:2, 4, 5; ฮีบรู 12:29) ทูตสวรรค์ได้ป่าวร้องว่า “บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ พระเจ้าจอมโยธา แผ่นดินโลกเต้มด้วยพระสิริของพระองค์” (อิสยาห์ 6:3) ความบปชั่วไม่สามารถปรากฏต่อพระพักตร์ของพระองค์ได้ เพราะจะพินาศไป และเพราะพระเจ้าทรงเป็นผู้ชอบธรรม และเที่ยงธรรม พระองค์จึงจัดการลงโทษต่อความบาปชั่วทั้งหลายมนุษย์ และทรงตีสอนประชากรของพระองค์ที่ไม่เชื่อฟัง ด้วยเหตุร้ายและภัยพิบัติต่าง ๆ เพื่อสำแดงความเข้มงวดและความยุติธรรมของพระองค์ให้ประจักษ์แจ้ง
สรุปความหมาย
จากที่ได้ศึกษามาทั้งหมดเกี่ยวกับคำว่า “ความชั่วร้าย” ในข้อที่ 11 นี้จึงน่าจะหมายถึง “บ่อเกิดแห่งภัยภิบัติ, การกระทำที่ก่อให้เกิดอันตราย” และ “ความรกร้างว่างเปล่า, ความทรุดโทรม,ความอ้างว้าง” ซึ่งในเวลาต่อมาเราได้เห็นว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของข่าวที่ผู้เผยพระวจนะของพระเจ้าพยายามจะสื่อ “ความชั่วร้าย” แน่นอนนั่นก็คือ การเคลื่อนทัพมาบุกทำลาย และการต้องตกเป็นเชลยของบาบิโลนที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาประชาชนอิสราเอล ดังคำประกาศของผู้เผยพระวจนะซึ่งกล่าวว่า “ และถ้าประชาชาตินั้น ซึ่งเราได้ลั่นวาจาไว้เกี่ยวข้องด้วย หันเสียจากความชั่วของตน เราก็จักกลับใจจากโทษ ซึ่งเราได้ตั้งใจจะกระทำแก่ชาตินั้น” เพราะฉะนั้น คราวนี้จึงกล่าวกับคนยูดาห์และชาวเมืองเยรูซาเล็มว่า “พระเจ้าตรัสดังนี้ว่า ดูเถิด เรากำลังก่อสิ่งร้ายไว้สู้เจ้า และคิดแผนงานอย่างหนึ่งไว้สู้เจ้า ทุกๆคนจงกลับเสียจากทางชั่วของตน และจงซ่อมทางและการกระทำของเจ้าทั้งหลายเสีย” (ยรม. 18:8, 11).
ดังนั้นจากการพิจารณาดูความหมายของรากศัพท์ในภาษาฮีบรูในหลาย ๆ ความหมายสำหรับคำว่า “ลาอา” (ความชั่วร้าย) ในพระคัมภีร์ข้อนี้ และจากพระคัมภีร์ข้ออื่น ๆ เราจึงไม่น่าจะแปลคำว่า “ลาอา” ในลักษณะที่ว่า “พระเจ้าทรงสร้างความชั่วร้ายในแง่ศีลธรรม” แต่น่าจะแปลว่า “วิบัติ” แทนคำว่า “ความชั่วร้าย” อย่างที่พระคัมภีร์ฉบับภาษาไทยและภาษาอื่น ๆ หลายฉบับใช้กัน ในขณะเดียวกันก็ไม่ผิดที่พระคัมภีร์ฉบับแปลเก่าแก่หลายฉบับพยายามใช้คำให้ตรงกับคำในภาษาฮีบรู แต่คำในภาษาอื่นอาจจะมีความต่างจากภาษาฮีบรู เช่น ฉบับ KJV ฉบับ Geneva1599 ฉบับ Webster เป็นต้นใช้คำว่า “ความชั่วร้าย” เพียงแต่ว่าอาจจะทำให้ผู้อ่านสับสนถ้าหากไม่มีพื้นฐานเกี่ยวกับพระคัมภีร์ที่ถูกต้อง
บทสรุป
ดังนั้นคำตอบต่อคำถามที่ว่า “พระเจ้าทรงสร้างความชั่วร้ายหรือ?” จึงอาจสรุปได้ตามพระวจนะของพระเจ้าที่ตรัสผ่านอิสยาห์ “เราปั้นความสว่างและสร้างความมืด เราทำโชคและสร้างวิบัติ เราคือพระเจ้า ผู้กระทำสิ่งเหล่านี้ทั้งสิ้น” ด้วยเหตุผลที่ว่า พระเจ้าทรงเป็นพระเจ้าผู้สูงสุด ผู้ทรงครอบครองควบคุมเหนือสรรพสิ่งทั้งปวง ทรงเป็นความสว่าง ความบริสุทธิ์ ชอบธรรม ยุติธรรมและเที่ยงธรรม ความมืด ความบาป ความชั่วร้ายไม่อาจอยู่ร่วมกับพระองค์ได้ พระองค์จึงจำเป็นต้องตอบสนองหรือลงโทษต่อความบาปชั่วของมนุษย์ โดยทรงอนุญาตหรือ นำการชั่วร้ายในลักษณะของภัยพิบัติทางธรรมชาติ และภัยจากสงครามมาสู่มนุษย์ ดั่งที่ อ.เปาโลกล่าวว่า “เพราะว่าพระเจ้าทรงสำแดงพระพิโรธของพระองค์จากสวรรค์ต่อความหมิ่นประ มาทพระองค์ และความชั่วร้ายทั้งมวลของมนุษย์ที่เอาความชั่วร้ายนั้นบีบคั้นความจริง” (โรม 1:18) อันที่จริงเมื่อมองย้อนกลับไปในปฐมกาล มนุษย์คู่แรกได้ทำบาปต่อพระเจ้า และนำความบาป ความตายและการแช่งสาปมาสู่มวลมนุษย์ มนุษยชาติอยู่ภายใต้พระอาชญาของพระเจ้า และสมควรพินาศสิ้น แต่ว่า “...พระเจ้าได้ทรงอดกลั้นพระทัยไว้ช้านานต่อผู้เหล่านั้นที่เป็นภาชนะอันสมควรแก่พระอาชญา ซึ่งเตรียมไว้สำหรับความพินาศ” (โรม 9:22) ฉะนั้นคำถามที่ว่า “ทำไมพระเจ้าที่ดีและบริสุทธิ์จึงอนุญาตให้สิ่งชั่วร้ายเกิดแก่คนดีๆ ได้?” จึงเป็นคำถามที่ปราศจากความเข้าใจที่ถูกต้อง
หากมองเรื่องนี้ในบริบทของคนไทยเราที่นับถือผี ซึ่งเชื่อว่าเหตุร้ายและความป่วยไข้นั้นเกิดจากอำนาจของผีหรือการลงโทษของผีต่อการที่เขาทำผิดต่อผีเหล่านั้น พวกเขาจึงต้องมีการเซ่นไหว้ขอขมาต่อ
ผีเหล่านั้น ซึ่งแนวความเชื่อนี้ดูจะสอดคล้องกับคำสอนของพระคัมภีร์ แต่ทว่าพระเจ้าผู้เที่ยงแท้นั้นแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับผีเหล่านั้นชอบหาเรื่องมนุษย์ตามอำเภอใจ เอาแน่เอานอนไม่ได้ สำหรับคนไทยที่นับถือพุทธนั้นเชื่อว่าสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากกรรมชั่วที่ได้ทำในอดีต ไม่ว่าจะเป็นของชาตินี้หรือชาติก่อนก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นการชดใช้กรรมที่ได้ทำไว้ หรือที่ว่า “กรรมตามสนอง” นั่นเอง แต่ถ้าจะถามว่ากรรมในอดีตชาติคืออะไร ไม่มีใครที่อาจตอบอย่างแน่นชัดได้ นอกจากคำตอบที่เด่นชัดในพระคัมภีร์ที่ว่า “เหตุฉะนั้น เช่นเดียวกับที่บาปได้เข้ามาในโลกเพราะคนๆ เดี่ยวและความตายก็เกิดมาเพราะบาปนั้น และความตายก็ได้แผ่ไปถึงมวลมนุษย์ทุกคน เพราะมนุษยืทุกคนทำบาป” (โรม 5:12) และหากจะถามว่า แล้วใครละที่เป็นผู้กำหนดและควบคุมกฎแห่งกรรมนี้ให้มีประสิทธิภาพ กลับไม่มีคำตอบในหลักคำสอนของพุทธศาสนาที่ชัดเจน แต่พระคัมภีร์บอกชัดเจนว่า พระเจ้าตรัสว่า “การแก้แค้นและการตอบ สนองเป็นของเรา รอเวลาเมื่อเท้าของเขาจะลื่นพลาด เพราะว่าวันหายนะของเขาใกล้แล้ว และกรรมจะมาถึงเขาโดยเร็วพลัน” (ฉธบ.32:35)
ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า คำตรัสของพระเจ้าในอิสยาห์ 45:7 ที่ว่า “เรากำหนดความสว่างและสร้างความมืด เรานำความเจริญและบันดาลภัยพิบัติ” (ฉบับอมตธรรม) เป็นสิ่งที่สอดคล้องและสามารถเข้าใจได้ไม่ยากนักในบริบทของคนไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเราที่เป็นคริสเตียนไทยที่จะตระหนักในเรื่องนี้ด้วยการดำเนินชีวิตในทางของพระเจ้า มีชีวิตบริสุธิ์สมกับพระเจ้าที่เรียกเรานั้นบริสุทธิ์ เพื่อเราจะไม่ต้องถูกการตีสอนจากพระบิดาของเรา และลุกขึ้นทำหน้าที่ของผู้ทูลขอพระเมตตาต่อพระเจ้า สารภาพบาปของพี่น้องคนไทย ประกาศสั่งสอนความจริงของพระองค์เพื่อคนไทยจะได้หันกลับมาสู่พระเจ้า อย่าให้เราละเลยหรือทำให้พระเจ้าผิดหวัง อย่างที่พระองค์ได้ตรัสผ่านผู้เผยพระวจนะเอเสเคียลว่า “และเราก็แสวงหาสักคนหนึ่งในพวกเขาซึ่งจะสร้างกำแพงและยืนอยู่ในช่องโหว่ต่อหน้าเราเพื่อแผ่นดินนั้น เพื่อเราจะมิได้ทำลายมันเสีย แต่ก็หาไม่ได้สักคนเดียว” (อสค.22:30)
บรรณานุกรม
โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์, โศกนาฏกรรมอันดามัน: ความทุกข์ ความหมายกับการเยียวยา, หนังสือพิมพ์
โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 22 มีนาคม 2548
ปฏิมา คงสืบชาติ (ผู้แปล), คู่มือพระคัมภีร์ฉบับสมบูรณ์ เล่ม 2: กรุงเทพ : กนกบรรณสาร, 1991
ปาร์คเกอร์ แกรี่, ไขปัญหาจักรวาล, กรุงเทพฯ; กนกบรรณสาร, 1997 น. 221
เฟล็มมี่ง ดอน, คู่มืออธิบายพระคัมภีร์เล่ม 4 :อิสยาห์-บทเพลงคร่ำครวญ, กรุงเทพ: สำนักพิมพ์ บีซีอี,
2003
มาร์ติน จอห์น เอ, อิสยาห์ (Isaiah) , BKC, กรุงเทพ: ศูนย์ทีรันนัส, 2001
อรุณ เวชสุวรรณ, วิวาทะ(ความเห็นไม่ตรงกัน)ระหว่าง ม.ร.ว..คึกฤทธิ์ ปราโมชกับท่านพุทธทาสภิกขุ,
กรุงเทพฯ; สำนักพิมพ์อรุณวิทยา, 2543
E. John Hamlin, คู่มือศึกษาพระคัมภีร์ อิสยาห์ 40-60, กรุงเทพฯ, สำนักพิมพ์สุริยบรรณ, 1993
Francis Brown, D.D., D. Litt., The Brown-Driver-Briggs Hebrew and English Lexicon, Massachusetts; Hendrickson Publishers, 2003
Jay P. Green, Sr. , The Interlinear Hebrew-Aramaic Old Testament, Volume III, Hendichson
Publishers, 2005
Wolf, Herbert M., Interpreting Isaiah, Grand Rapids, Michigan: Zondervan Publishing House, 1985www.palungjitrescuedisaster.com
[1] www.palungjitrescuedisaster.com
[4] อรุณ เวชสุวรรณ, วิวาทะ(ความเห็นไม่ตรงกัน)ระหว่าง ม.ร.ว..คึกฤทธิ์ ปราโมชกับท่านพุทธทาสภิกขุ, สำนักพิมพ์อรุณวิทยา, กรุงเทพฯ 2543 น. 31
[7] มาร์ติน,จอห์น,เอ,อิสยาห์ (Isaiah) , BKC,กรุงเทพ: ศูนยืทีรันนัส (สำนักพิมพ์ จีพี). 2001, น. 32,38
[9] เฟล็มมี่ง,ดอน,คู่มืออธิบายพระคัมภีร์เล่ม 4 :อิสยาห์-บทเพลงคร่ำครวญ,กรุงเทพ:สำนักพิมพ์ บีซีอี,2003, น. 150
No comments:
Post a Comment