คุณค่าของวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์
1. รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีมรดก
ชาติที่เจริญแล้วย่อมมีวรรณคดีของชาติตน รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีเก่าแก่ของไทยซึ่งสูญหายกระจายไปในสมัยที่กรุงศรีอยุธยาแตกเป็นครั้งที่ 2 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวไว้ในหนังสือสมาคมวรรณคดีปีที่ 1 ฉบับที่ 2 ว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แต่งขึ้นไว้สำหรับพระนครให้ครบตามจำนวนที่เคยมีมาในสมัยกรุงศรีอยุธยาทั้ง 4 เรื่อง คือ รามเกียรติ์ อุณรุท อิเหนา และดาหลัง ดังนั้นจึงนับได้ว่า พระราชนิพนธ์รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีมรดกของชาติ และเป็นวัฒนธรรมทางวรรณกรรมของชาติไทย
รามเกียรติ์เป็นวรรณคดีมรดก
ของชาติ และเป็นวัฒนธรรมทางวรรณกรรมของไทยที่ควรอนุรักษ์
และหวงแหน
2. รามเกียรติ์เป็นบ่อเกิดและศูนย์รวมของศิลปะแขนงต่างๆ ดังนี้
2.1 การแสดงโขน หนัง และหุ่น พระยาอนุมานราชธนเขียนไว้ว่า
โขน จะเล่นแต่เรื่องรามเกียรติ์เท่านั้น การแสดงโขนถือกันว่าเป็นศิลปะชั้นสูง เป็นที่นิยมว่าถ้าได้แสดงในงานใดก็เป็นการแสดงที่ให้เกียรติ์ ในศิลปะการแสดงโขนนี้ มีทั้งศิลปะการละคร การฟ้อนรำ การดนตรี การขับร้อง การพากย์ การประดิษฐ์เครื่องแต่งตัว การประดิษฐ์หัวโขน การจัดฉาก การล้อการเมือง
การแสดงหนังสดหรือโขนสด เป็นศิลปะที่ชาวบ้านเคยชื่นชอบ แต่ปัจจุบันต้องหลีกทางให้แก่ภาพยนตร์
การแสดงหนัง ซึ่งได้แก่หนังใหญ่และหนังตะลุง ได้ก่อให้เกิดศิลปะการแกะหนังให้เป็นตัวละคร ฉลุลวดลายวิจิตรบรรจง เพื่อให้เกิดความงดงามและสื่อลักษณะของตัวละคร หนังกลางคืนจะใช้สีดำเพื่อให้เงาคมชัด ส่วนหนังกลางวันจะมีการระบายสีอย่างงดงามเป็นสีเขียว สีแดงและสีเหลือง
การแสดงหุ่นเรื่องรามเกียรติ์ ก่อให้เกิดศิลปะการสร้างและเชิดหุ่น หุ่นที่ใช้เล่นเรื่องรามเกียรติ์ เดิมมี 2 ชนิด คือหุ่นหลวงและหุ่นเล็ก โดยหุ่นหลวงจะใช้เล่นในสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ตอนต้น ทำขึ้นตามแบบคนจริง แต่งตัวเหมือนเครื่องโขนทุกอย่าง หัวโขนก็ถอดได้ ส่วนหุ่นเล็กมีขนาดเล็กลง เป็นหุ่นเต็มตัว ต่อมามีการทำหุ่นกระบอกใช้เล่นเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นหุ่นเป็นชนิดมีแต่หัวกับมือและเสื้อ นอกจากนั้นยังมีหุ่นแบบละครเล็กอีกด้วย ทั้งตัวหุ่นชนิดต่างๆ และการเชิดหุ่นล้วนเป็นศิลปะที่ให้ความสุนทรีย์และต้องการความเชี่ยวชาญอย่างมาก
2.2 จิตรกรรม ความประทับใจในเรื่องรามเกียรติ์ก่อให้เกิดจิตรกรรม เพื่อแสดงเรื่องราวที่เกิดขึ้นในรามเกียรติ์ เช่น จิตรกรรมฝาผนังที่ระเบียงรอบโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) นั้นได้เล่าเรื่องราวรามเกียรติ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ในภาพมีทั้งจินตนาการและภาพขนบธรรมเนียมประเพณีของไทย ภาพปราสาทราชวังซึ่งอยู่ในเรื่องและภาพชีวิตชาวไทยสมัยก่อนแฝงอยู่
2.3 ประติมากรรม ภาพสลักนูนแสดงตัวละครตามเนื้อเรื่องรามเกียรติ์ ที่วัดพระเชตุพน จัดเป็นประติมากรรมประเภทไม่ลอยตัวที่งดงามด้วยคุณค่าทางศิลปะ นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมลอยตัวรูปตัวละครยักษ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและวัดอรุณราชวรารามและตุ๊กตาหินรูปหนุมานกับนางสุพรรณมัจฉาในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นต้น
2.4 ศิลปกรรม มีการนำเรื่องรามเกียรติ์มาเป็นศิลปกรรมประดับอาคารต่างๆ เช่น ในวัดพระเชตุพนฯ ลวดลายแถวไม้ปิดทองที่หน้าบรรณของวิหารทิศ และบานประตูลายมุกของพระอุโบสถ ล้วนประดิษฐ์ตามเรื่องรามเกียรติ์ทั้งสิ้น
2.5 วรรณกรรม เรื่องรามเกียรติ์เป็นแบบฉบับทางวรรณคดี เป็นแรงบันดาลใจแก่กวีและมีอิทธิพลต่อวรรณกรรมในสมัยต่อมา ความประทับใจในรามเกียรติ์ได้ก่อให้เกิดวรรณกรรมรามเกียรติ์มากกว่าสิบฉบับในประเทศไทย
นอกจากนี้เรื่องรามเกียรติ์ยังก่อให้เกิดนิยายพื้นบ้านมากมาย เช่น เรื่องท้าวกกกะหนากที่จังหวัดลพบุรี เรื่องเขาสรรพยาที่จังหวัดชัยนาท เรื่องตำนานเขาช่องกระจกที่ลพบุรี และตำนานเขาขาดที่จังหวัดสระบุรี เป็นต้น
จะเห็นได้ว่าเรื่องรามเกียรติ์เป็นที่มาของศิลปะและเป็นศูนย์รวมของศิลปะแขนงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งศิลปะ
ตัวละครฝ่ายมนุษย์ พระราม • พระลักษมณ์ • พระพรต • พระสัตรุด • นางสีดา • พระมงกุฎ พระลบ • ท้าวอโนมาตัน
ตัวละครฝ่ายยักษ์ ทศกัณฐ์ • กุมภกรรณ • ไมยราพณ์ • อินทรชิต • สหัสเดชะ • ท้าวลัสเตียน • มังกรกัณฐ์ • พิเภก • รามสูร • นางสำมะนักขา • นางเบญกาย • นางมณโฑ
ตัวละครฝ่ายลิง พาลี • สุครีพ • หนุมาน • องคต • ชมพูพาน • นิลนนท์ • นิลพัท
No comments:
Post a Comment