Thursday, October 29, 2020

เกษตรกรรม ในยุคพระคัมภีร์ AGRICULTURE In Bible Times

 

เกษตรกรรม   AGRICULTURE

เพราะเหตุว่าชาวอิสราเอลส่วนมากมีอาชีพเป็นชาวไร่ชาวนา  พวกเขาจึงใช้หลักในการบอกเวลาตามฤดูกาลเกษตรมากว่า  ใช้ชื่อเดือนต่อไปนี้เป็นตารางปฏิทินสิบสองเดือนของเรา  เปรียบเทียบฤดูต่าง ๆ ของปีในปาเลสไตน์

เดือน

สภาพดินฟ้าอากาศ

วาระการเกษตร

มกราคม

หนาว                    มีฝน

หว่าน

กุมภาพันธ์

ค่อนข้างหนาว        มีฝน

 

มีนาคม

ค่อนข้างร้อน           มีฝน

เก็บผลไม้พวกส้ม

เมษายน

ค่อนข้างร้อน           แล้ง

เกี่ยวข้าวสาลี

พฤษภาคม

ร้อน                        แล้ง

เกี่ยวข้าวสาลี

มิถุนายน

ค่อนข้างร้อน           แล้ง

มะเดื่อต้นฤดู

กรกฎาคม

ค่อนข้างร้อน           แล้ง

เก็บองุ่น

สิงหาคม

ค่อนข้างร้อน           แล้ง

เก็บมะกอกเทศ

กันยายน

ค่อนข้างร้อน           แล้ง

เก็บผลไม้ฤดูร้อนอื่น ๆ

ตุลาคม

ค่อนข้างหนาว          มีฝน

ไถ

พฤศจิกายน

ค่อนข้างหนาว          มีฝน

มะเดื่อฤดูหนาว

ธันวาคม

ค่อนข้างหนาว          มีฝน

หว่าน

 

  ไถและหว่าน

          พื้นที่ของเจ้าของที่ดินไม่มีรั้วกั้นแบ่งเขต  แต่มีหลักเสาหินปักไว้เป็นเครื่องหมายเรียกว่า เสาเขต (ฉธบ. 19:14)  ก่อนที่ชาวไร่ชาวนาจะใช้พื้นที่ทำการเพาะปลูกพวกเขาจำต้องขุดเอาหินเป็นจำนวนมากทั้งหมดขึ้นมาก่อนหินบางส่วนเหล่านี้พวกเขานำมาใช้เป็นหลักปักเสาเขต  (อสย. 5:2)  หินอื่นนอกจากนี้ก็ใช้ก่อเป็นกำแพงทำเป็นคอกสัตว์และทำเป็นกำแพงล้อมรอบสวนองุ่นบ้าง  บางครั้งพวกเขาใช้ปลูกต้นไม้เตี้ย ๆ   ไว้รอบ ๆ  สวนองุ่น เพื่อทำเป็นรั้ว  แทนที่จะใช้หินทำกำแพง (กดว. 22:24;  อสย. 5 :5 มธ. 21:33)

          ตามธรรมดาชาวนาใช้วัวไถนา  และใช้เครื่องมือสำหรับกระตุ้นสัตว์เรียกว่าประตัก (1 พกษ. 19:19; วนฉ. 3:31; ฉธบ.22:10)  ในพื้นที่ชนบทที่เป็นเนินผาก็จำเป็นต้องใช้มือขุดโดยใช้จอบเป็นเครื่องมือ  (อสย. 7:25) สมัยก่อนโน้นไถทำด้วยไม้  แต่ในสมัยต่อมาทำด้วยเหล็ก (1 ซมอ.  13:20)

          ชาวอิสราเอลอาศัยน้ำฝนทำการเพาะปลูกเพื่อให้พืชพันธุ์ของพวกเขาเกิดผลเหมือนกับชาวไร่ชาวนาทั่ว ๆ ไป  หลังจากฤดูแล้งผ่านไป  และการเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารทั้งหมดทั้งสิ้นสุดลงไปแล้วชาวไร่ชาวนาก็รอฝนใหม่ซึ่งกำลังจะตกลงมา  ตอนนี้พื้นดินแข็งแกร่งแห้งผาก  จำเป็นต้องไถเพื่อเตรียมการหว่านพืชใหม่ลงไป (อพย. 34:21;  ยรม. 4:3) ฝนซึ่งตกลงมาครั้งแรก  ๆ เป็นสัญญาณให้ทราบว่าฤดูฝนกำลังมาถึงแล้วเรียกว่า  ฝนต้นฤดู  (ฉธบ. 11:14;  ยรม. 5:24;  ยอล.2:23) ฝนต้นฤดูนี้มีประโยชน์และจำเป็นมากเพราะชาวไร่ชาวนาอาศัยฝนนี้หว่านนา  (ปฐก. 26:12;  มธ. 13:3 )  ฝนตกเป็นประจำตลอดฤดูหนาวช่วยให้พืชพันธุ์เจริญเติบโต   ฝนที่พวกเขาต้องการมากที่สุดก็คือฝนชุกปลายฤดูซึ่งทำให้เมล็ดข้าวสุกเร็วและรวงโตเต็มที่ก่อนจะถึงฤดูแล้ง (ฉธบ. 11:14; สภษ.16:15 ; ยรม.3:3; 5:24;  ยอล.2:23;  ศคย.10:1) ตลอดฤดูร้อนต่อจากนั้นมาชาวไร่ชาวนาอาศัยน้ำค้างแทนน้ำฝน  (1 พกษ. 17:1 ; อสย.18:4;  ศคย. 8:12 ) โปรดดู อากาศ ด้วย

 

เก็บเกี่ยวพวกข้าว

          ข้าวที่สุกเก็บเกี่ยวได้ก่อนคือข้าวบารลี (ลนต. 23:10; นธ. 1:22; 2 ซมอ. 21:9) ต่อมาก็เก็บข้าวสาลี  (ลนต. 23:16, 17; วนฉ. 15:1)  การเก็บเกี่ยวนี้ชาวไร่ชาวนาจะไม่เก็บเกี่ยวตลอดถึงชายเขตไร่ของพวกเขา  และเมื่อเก็บเกี่ยวไปเที่ยวแรกแล้วจะไม่กลับไปเก็บอีก ไม่ว่าจะเก็บข้าวที่ตกหรืออะไรก็ตาม  พวกเขาต้องปล่อยทิ้งไว้ให้คนยากจนเก็บไปกิน (ลนต. 19:9; ฉธบ.24:19;  นรธ. 2:2-7:10)

          เครื่องมือที่ใช้เก็บเกี่ยวคือเคียว (ฉธบ. 16:9; มก.4:29)  ต้นข้าวถูกมัดรวมกันเรียกว่า ฟ่อนข้าว (ปฐก. 37:7; ฉธบ. 24:19)  และพวกเขาก็นำฟ่อนข้าวเหล่านี้บรรทุกบนหลังลาหรือใส่เกวียนไปที่ลานนวด (นหม. 13:15;อมส. 2:13;  มีคา 4:12)  พวกเขาปล่อยให้วัวที่นวดข้าวกินข้าวจากกองข้าวที่มันนวดนั้นได้ตามสบาย (กดว. 18:27; 1 ซมอ. 23:1; 1 พศด. 9:9)  การนวดข้าวอีกวิธีหนึ่งพวกเขาใช้ไม้ท่อนใหญ่หรือท่อนโลหะเรียกว่า  เลื่อนสำหรับนวดข้าว  เอาข้าวที่เก็บเกี่ยวมากองสุมกันไว้   แล้วใช้เลื่อนนวดลงไป (1 พศด. 21:23;  อมส. 1:3)

          ครั้นเมื่อนวดเสร็จเรียบร้อยแล้ว  ก็ใช้พลั่วตักซัดขึ้นไปบนอากาศเพื่อให้แกลบกระจายออกไปตามสายลม  ส่วนเมล็ดที่ใช้ได้จะตกลงมากองบนพื้นดิน  การซัดข้าวนี้มักทำกันในเวลาเย็นเมื่อมีลมโชยมาอ่อน  ๆ (นรธ. 3:2;  อสย.30:24; มธ. 3:12) ต่อจากนั้นก็นำข้าวที่ซัดไว้แล้วใส่ตะแกรงฝัดเพื่อให้เศษผงเล็ก ๆน้อย ๆ ออกไปให้หมด  ก่อนที่จะบรรจุลงกระสอบหรือตะกร้า  พร้อมที่จะเก็บไว้เป็นอาหาร (อมส. 9:9; ลก. 22:31)  เศษผงสิ่งสกปรกหรือฟางที่ไม่มีประโยชน์ก็จะถูกนำเอาไปเผาไฟ  ส่วนฟางที่ดีก็จะนำเอาไปเก็บไว้ในยุ้งฉาง  เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์  (วนฉ. 19:19; 1 พกษ. 4:28; มธ. 3:12)

 

เก็บพวกผลไม้

          ในระหว่างเดือนที่เก็บเกี่ยว นวด ฝัด และนำเอาพืชพันธุ์ธัญญาหารเข้าไปในยุ้งฉาง ผลไม้กำลังเริ่มจะสุกไปตาม ๆ กัน  ผลไม้ที่สุกก่อนคือผลมะเดื่อ  ซึ่งจะออกลูกต่อไปเรื่อย ๆ  ประมาณสิบเดือน  (กดว. 13:20;  โปรดดู มะเดื่อ)  ต่อจากนั้นก็เก็บองุ่น  พวกชาวสวนองุ่นก็ปฎิบัติตามเช่นเดียวกับชาวนาข้าว  เมื่อพวกเขาเก็บองุ่นในเที่ยวแรกแล้วถึงแม้อาจทำตกหรือหลงเหลืออยู่  พวกเขาจะไม่เข้าไปเก็บเที่ยวที่สองอีก   แต่จะปล่อยทิ้งไว้ให้คนยากจนอนาถากิน  (ลนต. 19:10)  องุ่นใช้กินได้ทั้งสด ๆ และที่ตากแดดแห้ง  หรือใช้คั้นเอาน้ำทำเป็นองุ่นชนิดต่างๆ  กัน  (กดว. 6:3; 1 ซมอ. 25:18,  โปรดดู  องุ่นด้วย)

ต่อจากฤดูองุ่นก็เป็นฤดูมะกอกเทศ วิธีเก็บมะกอกเทศพวกเขาใช้วิธีเขย่าต้นหรือเอาไม้ฝาด  เพื่อให้ลูกมันหล่นลงมาแล้วเขาก็เก็บใส่ตะกร้า (ฉธบ. 24:20; อสย. 17:6; อมส. 8:2;  โปรดดู  มะกอกเทศ)  ฤดูสุดท้ายเป็นฤดูเก็บผลอินทผลัม  และเป็นเวลาเก็บผลไม้ฤดูร้อนชนิดอื่น ๆ ซึ่งเป็นสัญญาณอย่างหนึ่งแสดงให้รู้ว่าเป็นปลายฤดูเกษตรซึ่งกำลังจะสิ้นสุดลงแล้ว  (อมส. 8:1)

          ในเวลานั้นประชาชนจะเก็บรวบรวมอาหารไว้  เพื่อใช้รับประทานในฤดูหนาวซึ่งกำลังจะมาถึง  ในระหว่างฤดูหนาวเหล่านั้นจะมีฝนตกลงมาด้วยชาวไร่ชาวนาเริ่มเตรียมการเพื่อปฎิบัติภารกิจประจำปีในรอบต่อ ๆ ไป  เทศกาลประจำปีที่สำคัญของชาวอิสราเอลสัมพันธ์กับการครบรอบของการเกษตร  ดู เทศกาล  รายละเอียดผลไม้อื่น ๆ และผักต่าง ๆ  ที่ชาวอิสราเอลเพาะปลูก  ดู  อาหาร  ฝูงสัตว์

          เมื่อชาวอิสราเอลได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ในคานาอันแล้ว  พวกเขาจึงกลายเป็นชาวนาปลูกข้าว  และชาวสวนชาวไร่ปลูกต้นไม้รับประทานผล  เมื่อก่อนนั้นพวกเขาส่วนมากเป็นคนเลี้ยงสัตว์  บรรพบุรุษดั้งเดิมของพวกเขา  อับราฮัม  อิสอัค  และยาโคบ  นำฝูงสัตว์เที่ยวเร่ร่อนไปตามที่ต่างๆ อยู่เสมอ  (ปฐก. 47:1-6)  เมื่อพวกเขาออกจากประเทศอียิบต์ก็ได้นำเอาสัตว์เท่าที่สามารถนำเอามาได้ เพื่อจะสร้างชีวิตใหม่ในคานาอัน (อพย. 12:38; ฉธบ. 8:11-14)

La bible du jardinier - Home | Facebook

          ครั้งแรกที่ชาวอิสราเอลเข้าไปตั้งบ้านเรือนอยู่ในแผ่นดินใหม่  พวกเขาก็ยังดำเนินงานการเลี้ยงสัตว์กันต่อไป  แผ่นดินแห่งหนึ่งที่พวกเขาอาศัยอยู่นี้  เป็นที่ราบเต็มไปด้วยหญ้าเหมาะในการเลี้ยงสัตว์มาก   อยู่ทางตะวันออกของแม่น้ำจอร์แดน  เรียกว่าบาชานและกิเลอาด (กดว. 32:1, 26, 36, ฉธบ. 32:14; สดด.22:12; มีคา 7:14)  ส่วนพืชพันธุ์ธัญญาหารและต้นไม้มีผลรับประทานได้  มีอยู่ในภาคที่มีภูเขามากในคานาอัน  คือเขตแดนระหว่างแม่น้ำจอร์แดนและทะเลเมดิเตอร์เรเนียน (ฉธบ. 8:3; 2พศด. 26:10)

          สัตว์เหล่านี้โดยทั่วไปแล้วไม่ได้เลี้ยงไว้กินเนื้อ  แต่เลี้ยงไว้เพื่อใช้งานและเพื่อผลประโยชน์ทางอื่น  ชาวอิสราเอลไม่ได้กินเนื้อสัตว์จำพวกเนื้อวัว  เนื้อควาย  เนื้อแพะ  และเนื้อแกะมาก  พวกเขาจะกินก็ต่อเมื่อได้นำเอาไปทำพิธีถวายบูชาทางศาสนาหรือในโอกาสงานเลี้ยงพิเศษ  (ปฐก. 18:7; 27:9; ลนต. 9:15; 1 ซมอ.25:18; 28:24; ลก.15:23, 29)  วัว  ควายที่เลี้ยงไว้ส่วนมากดูเหมือนว่า  ชาวอิสราเอลต้องการเอานมของมันมาเป็นอาหารหลัก  ประจำวันของพวกเขา  (ปฐก. 8:7,8; 2 ซมอ. 17:29;  อสย. 7:22)  แกะที่พวกเขาเลี้ยงไว้ก็เพื่อเอาขนของมันมาทำเสื้อผ้า (ลนต.13:47  สภษ. 27:26)  โปรดดู  แกะ  แพะสามารถอาศัยอยู่ตามชนบทที่แห้งแล้งได้ดีกว่าแกะและวัวควาย

          ทั้งแพะและแกะเหล่านี้  ชาวอิสราเอลเลี้ยงไว้เพื่อเอานมมาเป็นอาหาร  และเอาขนของมันมาถักเป็นเสื้อผ้า (อพย. 26:7; 1 ซมอ. 19:13; สภษ. 27:27)

          คนเลี้ยงสัตว์ตามปกติเป็นคนอดทนบึกบึน  เพราะต้องต่อสู้ความยากลำบากนานาประการ  ต้องผจญกับความแห้งแล้ง ขาดน้ำ ความร้อน  ความหนาว  และอันตรายจากขโมย และสัตว์ป่าที่ดุร้าย (ปฐก. 26:17-22; 31:39, 40; อมส. 3:12; ยน. 10:10 , โปรดดู  ผู้เลี้ยงแกะ)

 

ความยากลำบากของชาวนา

          แน่นอนทีเดียวศัตรูตัวสำคัญที่สุดของชาวไร่ชาวนาก็คือ  ความแห้งแล้งกันดารขาดน้ำ (1 พกษ.17:7; อมส. 4:7; ฮกก. 1:11)  พวกเขาต้องได้รับความเดือดร้อนจากฝูงตั๊กแตนลูกเห็บ  โรคที่ทำลายพืชพันธุ์และลมร้อนซึ่งพัดมาจากทะเลทราย  ซึ่งนำเอาความร้อนมาเผาผลาญพืชผลของพวกเขาหมด (อสย.27:8; ยรม. 4:11;  ฮชย.13:15; ยอล.1:4; อมส. 4:9; ฮกก. 2:17; ลก.12:55)

          นอกจากนี้แล้ว  พวกชาวนายังถูกพ่อค้าที่มั่งมีและเจ้าหน้าที่บ้านเมืองกดขี่ข่มเหง ขูดเลือดด้วยวิธีต่างๆ นานา  เนื่องจากเหตุนี้พวกเขาจำนวนไม่น้อยทีเดียวที่ต้องตกอยู่ในสภาพยากจนข้นแค้นแสนสาหัส  แม้กระทั่งบ้านและที่ดินของพวกเขาก็ต้องถูกพวกเหล่านั้น ยึดเอาไปแทนหนี้สินท่วมตัวที่พวกเขาหมดปัญญาจะหามาใช้คืนได้ (อมส. 5:11; 8:4-6; มคา. 2:1-2) แสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่ปฎิบัติตามพระบัญญัติที่พระเจ้ามอบไว้ให้ป้องกันชีวิตการเกษตรของอิสราเอล  จึงเป็นผลให้แผ่นดินไม่อำนวยพระพรตามที่พระองค์ได้ทรงประสงค์ไว้ (ฉธบ. 28:1-35) โปรดดู  หนี้สิน  ปีเสียง เขาสัตว์  ปีสะบาโต  ด้วย

No comments:

Post a Comment