Monday, March 16, 2020

การติดต่อสื่อสาร

การติดต่อสื่อสาร

                การสื่อสาร เกิดจากการที่มนุษย์อยู่ตามลำพังไม่ได้ ต้องพึ่งพาผู้อื่น จึงต้องสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจในความคิดของตนเอง ว่าต้องการอะไร การสื่อความหมายในอดีต มีดังนี้
                1.    ใช้อาณัติสัญญาณต่างๆ เสียงกลอง ควันไฟ สัญญาณมือ
                2.    การวาดเขียนภาพบนผนังถ้ำ ภาพพิธีกรรม การล่าสัตว์
                3.    การประดิษฐ์คิดค้นตัวอักษร ตัวอักษรมนุษย์ถ้ำ ตัวอักษรโรมัน ตัวอักษรพ่อขุนรามคำแหง
                4.    ภาษาที่ใช้ ภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น ไทย
พัฒนาการสื่อสาร
                1.    การสื่อสารด้วยรหัส
                2.    การสื่อสารด้วยสายตัวนำ
                3.    การสื่อสารโดยใช้คอมพิวเตอร์
                4.    การสื่อสารโดยใช้ดาวเทียม
                5.    การสื่อสารโดยระบบไร้สาย
อุปกรณ์สื่อความหมายแทนคำพูดในปัจจุบัน
                1.    จดหมาย, โทรเลข, รหัสมอส, การใช้อักษรเบรลของคนตาบอด
                2.    โทรศัพท์
                3.    การส่งข้อความโดยโทรศัพท์เคลื่อนที่, อีเมล
                การสื่อสาร (Communication) มาจากคำว่า “Communis” ในภาษาลาติน แปลว่า ความเหมือนหรือการร่วมกัน
                การสื่อสาร (Communication) คือ กระบวนการของข่าวสาร (Message) ซึ่งเริ่มจากผู้ส่งสาร (Sender) ใช้ข่าวสาร (Massage) ส่งผ่านช่องทาง (Channel) ไปยังผู้รับสาร (Receiver)
            การสื่อสาร แบ่งออกเป็น 2 แบบ
                1.    อวัจนภาษา   คือ ภาษาที่ไม่ใช่คำพูด สัญลักษณ์ อากัปกริยา
                2.    วัจนภาษา      คือ ภาษาที่ใช้คำพูด ภาษาพูด ภาษาเขียน
            การสื่อสารกับช่องทางที่ใช้
                ช่องทางที่ใช้ ได้แก่ ตา (การเห็น) หู (ได้ยิน) จมูก (ได้กลิ่น) มือ (สัมผัส) ปาก, ลิ้น (การลิ้มรส)



องค์ประกอบในการติดต่อสื่อสาร
                1.    แหล่งข้อมูลข่าวสารหรือผู้ส่งสาร (Source, Sender) หมายถึง สิ่งที่ก่อกำเนิดข่าวสารหรือ
ผู้เป็นต้นเหตุของข่าวสาร อาจเป็นบุคคลเดียวหรือหลายคนก็ได้
                2.    ข่าวสาร (Message) หมายถึง เนื้อหาสาระหรือเครื่องหมายที่ผู้ส่งดำเนินการถ่ายทอดไปยังผู้รับสาร
                3.    ช่องทางของข่าวสาร (Channel) หมายถึง สื่อกลางในการนำข่าวสารไปยังผู้รับสาร เช่น หนังสือ ภาพยนต์ โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์
                4.    ผู้รับข่าวสาร (Receiver) หมายถึง บุคคลหรือกลุ่มคน หรือสิ่งของที่ทำหน้าที่รับรู้ข่าวสาร
ที่ส่งมาจากผู้ส่งข่าวสาร
                Berlo (1960) กล่าวถึงรูปแบบการสื่อสารว่าต้องประกอบด้วย S – M – C – R ดังนี้
S
(Source)
M
(Message)
C
(Channel)
R
(Receiver)
- ทักษะในการสื่อสาร
- องค์ประกอบ
- การเห็น
- ทักษะในการสื่อสาร
- ทัศนคติ
- โครงสร้าง
- การได้ยิน
- ทัศนคติ
- ความรู้
- เนื้อเรื่อง
- การสัมผัส
- ความรู้
- สังคมและวัฒนธรรม
- การทำข่าว
- การได้กลิ่น
- สังคมและวัฒนธรรม

- รหัส
- การลิ้มรส

                รูปแบบการติดต่อสื่อสารของ Berlo แบ่งส่วนประกอบสำคัญออกเป็น 4 ส่วน คือ ผู้ส่งสารหรือแหล่งข่าว ข่าวสาร ช่องทางของการสื่อสาร และผู้รับสาร
                ถ้าการสื่อสารมีจุดมุ่งหมายเพื่อการเปลี่ยนแปลงความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรม สัมฤทธิผลของการสื่อสารก็อยู่ที่ความสามารถเปลี่ยนแปลงผู้รับสารได้ในแนวทางที่ผู้ส่งต้องการ สัมฤทธิผลนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เริ่มจากการรวบรวมความคิด แล้วถอดความคิดออกมาเป็นเนื้อหาข่าวสาร ความสามารถในการสื่อสาร ความสามารถของผู้รับในการตีความเนื้อหาสาระในสาร เงื่อนไขหรือข้อกำหนดในการเลือกรับสารของผู้รับและเลือกส่งสารของแหล่งสาร นอกจากนี้
ยังขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของสื่อ
(Media) และช่องทางข่าวสาร (Channel) อีกด้วย
                Scharamn (1974) ได้อธิบายกระบวนการติดต่อสื่อสารไว้ว่า เมื่อผู้ส่งสารมีข่าวสารจะส่งไปยังผู้รับสาร ผู้ส่งสารจะต้องดำเนินการเข้ารหัส เมื่อสัญญาณผ่านช่องทางสื่อสารไปถึงผู้รับสารแล้ว ผู้รับสารต้องทำการถอดรหัสสัญญาณที่ได้รับในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เป็นข่าวสารตามที่ได้ส่งข่าวมา
                ในการที่จะทำให้กระบวนการติดต่อสื่อสารเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ Scharamn ได้ระบุถึง
กรอบแห่งการอ้างอิง
(Frame of Reference) และพื้นฐานประสบการณ์ (Field of Experience) ทั้งของ
ผู้ส่งสารและผู้รับสารไว้ด้วยว่ามีบทบาทที่สำคัญต่อความสำเร็จของการติดต่อสื่อสาร
                พื้นฐานประสบการณ์ (Field of Experience) หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่บุคคลได้ประสบมาตั้งแต่เกิดจนถึงขณะที่ทำการติดต่อสื่อสาร หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นภูมิหลังของแต่ละบุคคล ซึ่งแต่ละคนจะมีพื้นฐานประสบการณ์แตกต่างกัน อย่างไรก็ดีหากจะให้มีการติดต่อสื่อสารสมบูรณ์ อธิบายโดยใช้พื้นฐานประสบการณ์ สรุปได้ว่า ข่าวสารนั้นจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของพื้นฐานประสบการณ์ทั้งของผู้รับและผู้ส่งหลังจากติดต่อสื่อสารกันแล้ว กล่าวคือ ทั้งผู้ส่งสารและผู้รับสาร
เกิดความเข้าใจในข่าวสารนั้นตรงกันทุกประการ ส่วนการติดต่อสื่อสารที่ไม่สมบูรณ์ ก็หมายถึง
การที่ข่าวสารที่ผู้ส่งสารไม่ได้กลายเป็นพื้นฐานประสบการณ์ของผู้รับสารทั้งหมด อาจมีบางส่วนของข่าวสารเท่านั้นที่เป็นพื้นฐานประสบการณ์ของผู้รับสาร ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากอุปสรรคหลายประการ
                        กรอบแห่งการอ้างอิง                                                  กรอบแห่งการอ้างอิง         
                       (Frame of Reference)                                                               (Frame of Reference)
วัตถุประสงค์ของผู้ส่งสาร
                1.    เพื่อแจ้งให้ผู้รับสารทราบและเกิดความเข้าใจ
                2.    เพื่อสอนหรือให้การศึกษาและเกิดความเข้าใจมากกว่าเดิม
                3.    เพื่อสร้างความบันเทิงและความเข้าใจ
                4.    เพื่อนำเสนอและชักจูงให้มีความสนใจปฏิบัติตาม
วัตถุประสงค์ของผู้รับสาร
                1.    เพื่อรับทราบ
                2.    เพื่อเรียนรู้
                3.    เพื่อความบันเทิง
                4.    เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจ

อุปสรรคในการติดต่อสื่อสาร
                คือ ตัวการที่คอยรบกวนการติดต่อสื่อสารให้ติดขัด ชะงัก หรือไม่มีประสิทธิภาพ (Communication Breakdown) แบ่งออกเป็น 3 ด้าน
                1.    ด้านเทคนิคหรือกลไก (Technical or Mechanical) เกิดจากช่องทางการสื่อสารที่นำเสนอตัวอย่างเช่น โทรทัศน์ภาพล้ม, การพูดคุยในที่เสียงดัง
                2.    ด้านภาษา (Semantic) เช่น การใช้ภาษาที่แตกต่างกัน, ภาษาเดียวกันแต่ใช้ศัพท์ที่ยาก, ความแตกต่างด้านความรู้ ประสบการณ์ การศึกษา, IQ
                3.    ด้านอื่นๆ เช่น ใช้ช่องทางในการสื่อสารไม่เหมาะสม
                อุปสรรคในการติดต่อสื่อสารหรือสิ่งกีดขวางในการติดต่อสื่อสารที่สำคัญ ได้แก่
                1.    ความแตกต่างระหว่างบุคคล
                2.    ลักษณะการถ่ายทอดของผู้นำการเปลี่ยนแปลง
                3.    บรรยากาศในการติดต่อสื่อสาร
                4.    วัสดุอุปกรณ์ในการติดต่อสื่อสาร

ขั้นตอนการยอมรับ Innovation ไปปฏิบัติ
ตกลงใจ
 
                ผู้นำการเปลี่ยนแปลง                                                              บุคคลเป้าหมาย
 ผู้ส่งข่าวสาร
 
สื่อกลาง
 
Action
 
เข้าใจ
 
การรับรู้
 
1. Awareness       2. Interest             3. Evaluation                       4. Trial                  5. Adoption

                ความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนบุคคลเป้าหมายกับรายละเอียดของข่าวสารเมื่อใช้วิธีการส่งเสริมที่แตกต่างกัน
การส่งเสริม
แบบมวลชน
 
 


                มีการศึกษาถึงอุปสรรคการสื่อสารที่พบในการส่งเสริมการเกษตร พบว่า อุปสรรคที่สำคัญ ได้แก่
                1.    ผู้ส่งสารและผู้รับสารมีความรู้ความเข้าใจไม่เพียงพอ มีทัศนคติที่ไม่ดี
                2.    ผู้ส่งสารนำเสนอข่าวสารไม่ดี ทำให้ผู้รับสารไม่สนใจ
                3.    ตัวของสารไม่มีความชัดเจน
                4.    มีการจัดลำดับของสารไม่ดี มีความสลับซับซ้อน
                5.    ผู้ส่งสารและผู้รับสารใช้สื่อ/ช่องทางที่ไม่เหมาะสม
                แนวทางแก้ไข
                1.    ผู้สื่อสาร (ผู้ส่งสารและผู้รับสารต้องเข้าใจองค์ประกอบในการสื่อสาร เลือกใช้สื่อ/ช่องทางที่เหมาะสม มีวัตถุประสงค์ที่ใช้ชัดเจน
                2.    ผู้ส่งสาร/ผู้รับสารควรมีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าและมีการใช้ทักษะในภาษาที่ถ่ายทอด
ให้เหมาะสมกับการสื่อสาร
                3.    ควรคำนึงถึงปฏิกิริยาตอบสนองเพื่อนำมาประเมินแก้ไขข้อบกพร่อง





















การอ่าน
            การอ่านเป็นทักษะในการรับสารซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการศึกษาหาความรู้ การอ่านทำให้เราทราบเหตุการณ์ ความรู้สึกนึกคิดของอดีตและปัจจุบัน ทราบปัญหา เพิ่มพูนสติปัญญา และทำให้เกิดความเพลิดเพลิน ซึ่งในการอ่านเหล่านี้ต้องฝึกฝนจนเกิดทักษะจะทำให้เข้าใจข้อความที่อ่านได้เป็นอย่างดี
            ปัจจุบันสื่อการอ่านมีจำนวนมากมายทั้งในด้านรูปแบบและเนื้อหา การที่จะอ่านสื่อแต่ละชนิดให้ได้ผล ผู้อ่านต้องแยกแยะการอ่านออกเป็นประเภทต่าง ๆ โดยใช้วิธีการอ่านที่เหมาะสมกับเนื้อหาเหล่านั้น ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการอ่าน มักมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องของการอ่าน
1. ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการอ่าน
            การอ่านที่ดีนั้นเกิดจากทักษะการฝึกฝนและการเรียนรู้ การอ่านเป็นการสื่อสารระหว่าง ผู้ส่งสารด้วยการเขียนกับผู้อ่าน โดยอาศัยตัวหนังสือเป็นสื่อ ผู้อ่านจึงเกิดความรู้ ความคิดและประสบการณ์ สามารถนำความรู้ความคิดและประสบการณ์เหล่านั้น ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ แต่ผลจากการอ่านที่ผู้อ่านได้รับนั้น ย่อมแตกต่างกัน เพราะฉะนั้นการมีความรู้เกี่ยวกับการอ่าน จะช่วยให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อ่านได้
            ความหมายของการอ่าน
            การอ่านคือการรับรู้ความหมาย จากถ้อยคำที่ตีพิมพ์ จากสิ่งพิมพ์ชนิดต่าง ๆ  เพื่อรับรู้ว่าผู้เขียนคิดอะไรและพูดอะไร โดยที่ผู้อ่านต้องเริ่มทำความเข้าใจวลี ประโยค ซึ่งรวมอยู่ในย่อหน้า แต่ละย่อหน้า แล้วรวมเป็นเรื่องเดียวกัน
            สุพรรณี วราทร กล่าวสรุปความหมายของการอ่านว่า การอ่านเปรียบเหมือนการถอดรหัส อันเป็นผลจากการเห็นสัญลักษณ์หรือข้อความ การอ่าน เน้นกระบวนการทางสมองที่ซับซ้อน ซึ่งการอ่านนั้นเกี่ยวข้องกับพฤติกรรม 3 ลักษณะ คือ
            1. การรับรู้ ได้แก่การรับรู้คำ คือแปลสัญลักษณ์ที่เน้นลายลักษณ์อักษรได้
            2. การมีความเข้าใจ มี 3 นัย คือ
                        2.1 การประสานความหมาย คือการกำหนดความหมาย ให้สัญลักษณ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร
                        2.2 ความเข้าใจทางภาษา หมายถึง เข้าใจข้อความที่อ่าน ซึ่งต้องอาศัยทักษะการอ่านบางประการ
                        2.3 การตีความ เป็นการประมวลความคิดจากเนื้อหาต่าง ๆ ในข้อเขียน รับความเข้าใจโดยเชื่อมโยงจากสิ่งที่อ่านทั้งหมด ทำให้เกิดความเข้าใจในสารที่นำเสนอ
            3. การมีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่อ่าน เป็นเรื่องของการประเมินผล ซึ่งหมายถึงการพิจารณา วิเคราะห์ เพื่อหาข้อเท็จจริงจากการอ่าน
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของการอ่านว่า การอ่านตามตัวหนังสือ การออกเสียงตามตัวหนังสือ การดูหรือเข้าใจความจากตัวหนังสือ : สังเกต หรือพิจารณาดู เพื่อให้เข้าใจ
            จากคำจำกัดความข้างต้นนี้ การอ่านในที่นี้ จึงหมายถึงการอ่านในใจ และการอ่านออกเสียง สมบัติ จำปาเงิน ให้ความหมายของการอ่านว่า เป็นการเก็บรวบรวมความคิด ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือที่อ่าน และสรุปว่า
การอ่านที่จะได้ผล ต้องพิจารณาจากพฤติกรรมพื้นฐาน 3 ด้าน คือ
·       การแปลความ    คือ การเข้าใจเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมา
·       การตีความ          คือ การเข้าใจเรื่องราวอย่างลึกซึ้ง และอาจแยกแยะไปได้อีกหลายแง่หลายมุม
·       การขยายความ   คือ การนำเสนอความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ในรูปของการอธิบายเพิ่มเติม
สรุป
 การอ่าน หมายถึง การเก็บรวบรวมความคิด ที่ปรากฏในหนังสือที่อ่าน ซึ่งในการอ่านผู้อ่านต้องมีการรับรู้ การแปลความ เข้าใจความหมายจากการตีความ โดยอาศัย การขยายความประกอบด้วย
            ลักษณะของนักอ่านที่ดี
            การเป็นนักอ่านที่ดีนั้น ย่อมให้ประโยชน์แก่บุคคลนั้นๆอย่างสูงสุด ซึ่งก่อนที่จะเป็นนักอ่านที่ดีได้ ผู้อ่านควรมีความรู้เกี่ยวกับการอ่านเบื้องต้นคือต้องมีความสามารถทางภาษา รู้คำ รู้จัก ส่วนต่าง ๆ ของหนังสือ รู้ว่าหนังสือประเภทใดควรใช้การอ่านอย่างไร รู้จักเลือกหนังสืออ่าน และรู้แหล่งของหนังสืออีกด้วย ความรู้พื้นฐานเหล่านี้จะช่วยพัฒนาให้เป็นนักอ่านที่ดีได้ ซึ่งนักอ่านที่ดีนั้น สมบัติ จำปาเงิน และ สำเนียง มณีกาญจน์ (2545 , หน้า 6-7) ได้กล่าวไว้ดังนี้
                1. มีความตั้งใจ หรือมีสมาธิแน่วแน่ในการอ่าน
                2. มีความอดทน หมายถึง สามารถอ่านหนังสือได้ในระยะเวลานานโดยไม่เบื่อ
                3. อ่านได้เร็วและเข้าใจความหมายของคำ
                4. มีความรู้พื้นฐานพอสมควร ทั้งด้านความรู้ทั่วไป ถ้อยคำ สำนวนโวหาร ฯลฯ
                5. มีนิสัยจดบันทึก รวบรวมความรู้ความคิดที่ได้จากการอ่าน
                6. มีความจำดี คือ จำข้อมูลของเรื่องได้
                7. มีความรู้เรื่องการหาข้อมูลจากห้องสมุด เพราะจะช่วยประหยัดเวลาในการหาข้อมูล
                8. ชอบสนทนากับผู้มีความรู้และนักอ่านด้วยกัน.
                9. หมั่นทบทวน ติดตามความรู้ที่ต้องการทราบหรือข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
                10. มีวิจารณญาณในการอ่าน คือ แยกเนื้อหาข้อเท็จจริง เพื่อกันสิ่งที่เป็นประโยชน์ไว้ใช้ต่อไปในอนาคต
ความมุ่งหมายในการอ่าน
            การรู้ความมุ่งหมายในการอ่าน เป็นองค์ประกอบหนึ่งของทักษะการอ่านเร็ว และการอ่านเพื่อได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ การที่ผู้อ่านรู้ว่าอ่านเพื่ออะไร จะทำให้สามารถเลือกสื่อการอ่านได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และทำให้การอ่านมีสมาธิ
            โดยทั่วไปการอ่านมีความมุ่งหมายดังนี้
            1. อ่านเพื่อความรู้ เน้นการอ่านเรื่องราวต่าง ๆ ที่ต้องการให้เกิดความรู้ ซึ่งการอ่านเพื่อความรู้นี้มีหลายลักษณะ เช่น
              1.1 อ่านเพื่อหาคำตอบ เช่น อ่านกฎ ระเบียบ คำแนะนำ ตำรา หนังสืออ้างอิง ฯลฯ
              1.2 อ่านเพื่อรู้ข่าวสารและข้อมูล เช่น การอ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร เอกสารโฆษณา และประชาสัมพันธ์
               1.3 อ่านเพื่อประมวลสาร ได้แก่ อ่านเอกสาร วารสาร หนังสืออื่น ๆ เพื่อสิ่งที่ต้องการรู้และนำมาประมวลสารเข้าด้วยกัน
การอ่านเพื่อความรู้มีประโยชน์มาก เพราะนอกจากจะสนองตอบความต้องการด้านต่างๆ แล้วยังทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้และความมั่นใจอันมีผลต่อบุคลิกภาพ หรือ การประกอบอาชีพอีกด้วย
            2. อ่านเพื่อศึกษา เป็นการอ่านอย่างจริงจัง เช่น การอ่านตำรา และหนังสือวิชาการต่าง ๆ
            3. อ่านเพื่อความคิดเป็นการอ่านเพื่อให้เข้าใจสาระของเนื้อเรื่องเป็นแนวทางในการริเริ่มสิ่งต่าง ๆ ซึ่งเป็นความคิดอันได้ประโยชน์จากการอ่าน
            4. อ่านเพื่อวิเคราะห์วิจารณ์ เป็นการอ่านเพื่อความรู้อย่างลึกซึ้ง ทำให้สามารถแสดงความคิดเห็นจากเรื่องที่อ่านได้ เช่น การอ่านบทความ ข่าว เป็นต้น
            5. อ่านเพื่อความเพลิดเพลิน เป็นการอ่านเพื่อเปลี่ยนแปลงกิจกรรม เป็นการผ่อนคลาย เพื่อให้เกิดความรื่นรมย์ การอ่านชนิดนี้ไม่ได้จำกัดว่าอ่านเอกสารชนิดใด ขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้อ่านเป็นสำคัญ บางคนอาจชอบอ่านหนังสือธรรมะเพื่อความเพลิดเพลิน บางคนอาจชอบอ่านเรื่องสั้นนวนิยายก็ได้
            6. อ่านเพื่อใช้เวลาอย่างสร้างสรรค์ หมายถึง การอ่านที่ไม่ได้มุ่งหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยเฉพาะ เป็นการอ่านเมื่อมีเวลาว่างขณะรอคอยกิจกรรมอื่น ๆ เช่น การนั่งคอยบุคคลที่ไปพบ อาจอ่านหนังสือพิมพ์หรือสารคดีอื่นใดก็ได้ การอ่านชนิดนี้สามารถหยุดอ่านได้ทันทีโดยไม่ทำลายความต่อเนื่องหรือสมาธิในการอ่าน
องค์ประกอบของการอ่าน
            การอ่านเป็นกระบวนการที่สำคัญและมีความซับซ้อน มีองค์ประกอบหลายชนิดที่ช่วยให้การอ่านเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้คือ
      1. ความหมายของคำ ผู้อ่านต้องมีความเข้าใจในความหมายที่ถูกต้องของคำศัพท์ ทุกคำ
      2. ความหมายของกลุ่มคำ ความหมายของกลุ่มคำนั้น จะช่วยทำให้ผู้อ่านเ ข้าใจความหมายของเนื้อความอย่างต่อเนื่อง
       3. ประโยค คือการนำความหมายของกลุ่มคำแต่ละกลุ่มมาสัมพันธ์กัน จนได้ความหมายเป็นประโยค
       4. ผู้อ่านต้องเข้าใจข้อความในแต่ละย่อหน้า และสามารถมองเห็นความสัมพันธ์ของย่อหน้าทุกย่อหน้า อันจะทำให้เข้าใจความสำคัญของเรื่องได้ทั้งหมด
            เมื่อทราบเรื่ององค์ประกอบของการอ่านแล้ว ผู้อ่านที่ดีจะต้องพยายามศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ให้ชัดเจน ตามองค์ประกอบนั้น ๆ การอ่านจึงจะเกิดประสิทธิภาพตามที่ต้องการ ความสำเร็จของการอ่านประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้
                        1) ความรู้เกี่ยวกับระบบการเขียน รู้จักย่อหน้า ข้อความที่เน้นด้วยการขีดเส้น หรือพิมพ์อักษรทึบ การวรรคตอน ประโยคใจความสำคัญ ประโยคขยาย
                        2) ความรู้เกี่ยวกับการใช้ภาษา ในการใช้คำ โวหาร ภาพพจน์ สุภาษิต
                        3) ความสามารถในการตีความ คือ เข้าใจเนื้อหา ความสัมพันธ์ระหว่างประโยค และติดตามความคิดของผู้เขียนได้
                        4) ความรู้รอบตัวของผู้อ่าน ผู้อ่านที่มีความรู้รอบตัวมาก ๆ อาจเกิดจากประสบการณ์ต่างๆ หากสัมพันธ์กับเรื่องที่อ่านแล้ว จะทำให้เข้าใจได้ดียิ่งขึ้น
                        5) เหตุผลในการอ่าน ผู้อ่านที่ดีต้องรู้เหตุผลในการอ่าน ว่าจะอ่านไปทำไม เพื่อจะได้เลือกวิธีการอ่านได้อย่างเหมาะสม
            เมื่อรู้องค์ประกอบของการอ่านข้างต้นแล้ว ผู้อ่านที่มีความรู้เรื่องพื้นฐานในการอ่าน จะเห็นว่าการอ่านมีคุณค่าต่อชีวิตมาก คือ
                        1) ทำให้เกิดความพอใจ เช่น การอ่านเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจ ฯ
                        2) ตอบสนองความต้องการต่าง ๆ ของตน ได้อย่างกว้างขวาง เช่น การอ่านเพื่อฆ่าเวลา และยังทำให้ใช้เวลาว่างได้อย่างมีประโยชน์
                        3) ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์
                        4) ทำให้รู้ทันความคิดของผู้อื่น ทันโลก และสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ
                        5) ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่น การอ่าน เพื่อการศึกษาเล่าเรียน
                        6) สามารถเสริมสร้างบุคลิกภาพของบุคคลได้
2. หลักพื้นฐานในการอ่าน
            การอ่านที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้เป็นการอ่านหนังสือทั่วไป ที่สามารถใช้ได้กับงานเขียนทุกประเภท และทุกวัตถุประสงค์ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่ไม่ได้กำหนดไว้ตายตัว คือ
            1. ขั้นวางเป้าหมาย ก่อนการอ่านหนังสือทุกครั้ง ผู้อ่านต้องกำหนดเป้าหมาย ในการอ่านของตนไว้ให้แน่นอน แล้วก็ควรตั้งใจอ่านให้ดี เช่น หากต้องการอ่านเพื่อรู้รายละเอียด ก็ควรเก็บสาระของการอ่านให้ได้
            2. ขั้นสำรวจข้อมูล ผู้อ่านควรให้ความสนใจเกี่ยวกับผู้แต่ง เวลาที่แต่ง เวลาที่จัดพิมพ์ จำนวนครั้งที่พิมพ์ โรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ เพื่อจะได้ทราบเกี่ยวกับภูมิหลังของหนังสือเล่มนั้น ๆ เช่น หนังสือที่จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ 1 เวลาผ่านไป 5 ปี ยังไม่มียอดพิมพ์จำหน่ายเพิ่มเติม  แสดงว่าย่อมได้รับความสนใจน้อยกว่า หนังสือที่จัดพิมพ์ในเวลา 1 เดือน แต่มีการพิมพ์เพิ่มเติมเป็นครั้งที่ 2 หรือ 3 และในจำนวนเล่มที่พิมพ์แต่ละครั้งมากกว่า ดังนั้น หากจะเลือกใช้หนังสือที่มีเนื้อหาเดียวกัน ควรเลือกหนังสือที่ยอดพิมพ์และครั้งที่พิมพ์มากกว่า หรือหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ใหม่ย่อมน่าสนใจกว่า เพราะเนื้อหาย่อมทันสมัยมากกว่า
            3. ขั้นสังเกตส่วนประกอบ ส่วนประกอบของหนังสือในที่นี้ เช่น คำนำ ช่วยทำให้รับรู้จุดมุ่งหมายของผู้เขียน สารบัญ ช่วยให้รับรู้เนื้อหาสาระที่สำคัญ ของหนังสือเล่มนั้นอย่างรวดเร็ว หนังสือบางเล่มมีดรรชนีท้ายเล่ม ซึ่งจะช่วยให้เราเข้าใจรายละเอียดของคำที่ต้องการค้นว่า อยู่ที่หน้าใดของหนังสือ ส่วนภาคผนวกนั้น อาจมีหรือไม่มีก็ได้ เพราะภาคผนวกจะรวบรวมสาระที่น่าสนใจ และเกี่ยวข้องกับหนังสือเล่มนั้น ที่ควรทราบเพิ่มเติม นอกจากนี้ยังมีอภิธานศัพท์ ซึ่งจะรวมคำศัพท์ยาก ๆ ไว้ การพลิกดูจะทำให้เข้าใจความหมายของคำได้รวดเร็ว และทำให้อ่านหนังสือเข้าใจได้เร็วยิ่งขึ้น ส่วนบรรณานุกรมในหนังสือตำราวิชาการ รายงาน ทำให้ผู้อ่านสามารถทราบแหล่งที่มาของข้อมูลที่ปรากฏในหนังสือเล่มนั้น และช่วยให้สามารถหาความรู้เพิ่มเติมได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
            4. ขั้นอ่านอย่างมีสมาธิ เมื่อผ่านขั้นตอนต่างๆมาแล้ว ผู้อ่านก็ควรอ่านอย่างมีสมาธิให้ได้ประโยชน์จากการอ่านมากขึ้น
            5. ขั้นตั้งคำถามทบทวน ในขณะที่อ่าน ควรทบทวนอยู่ตลอดเวลา โดยตั้งคำถามถามตัวเองว่า ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และทำไม และค้นหาคำตอบให้ได้ จะเป็นการทดสอบว่าการอ่านของเราก้าวหน้าเพียงใด
3. ประเภทของการอ่าน
            การอ่านแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ การอ่านในใจและการอ่านออกเสียง
            การอ่านในใจ
            การอ่านในใจ คือการแปลความหมายของตัวอักษรออกมาเป็นความคิด ความเข้าใจ และนำความคิดความเข้าใจที่ได้นั้นไปใช้ให้เป็นประโยชน์ ประเภทของการอ่านดังต่อไปนี้คือ
            1. การอ่านจับใจความ
                การอ่านจับใจความ เป็นพื้นฐานของการอ่านในใจ การอ่านจับใจความ แบ่งได้ 2 ประเภทคือ
           1.1 การอ่านจับใจความส่วนรวม เพื่อเข้าใจเนื้อหาส่วนรวม สำหรับผู้ที่ต้องการอ่านอย่างรวดเร็ว
                วิธีการอ่าน
                        1) สังเกตส่วนประกอบ เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ ว่าเป็นงานเกี่ยวกับอะไร
                        2) วิเคราะห์จุดมุ่งหมายงานเขียน ว่าเขียนด้วยวัตถุประสงค์ใด
                        3) จัดลำดับเนื้อหาใหม่ตามความสำคัญ
                        4) ตั้งคำถามกว้าง ๆ ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร และทำไม เพื่อหาความสัมพันธ์ในการดำเนินเรื่อง
                ตัวอย่างการอ่านจับใจความส่วนรวม
                        ลมร้อนผ่าวพัดผ่านไปเหนือลานหินทรายอันร้อนระอุที่ยามนี้ข่อยดานกอใหญ่ยังไม่วายเหี่ยวเฉา ทั้งใบ เพื่อจะเก็บกักน้ำ ไม่ให้คายออกมามากจนเกินกว่าจะรักษาชีวิตของมันให้ผ่านพ้นกาลเวลาแห่งความแห้งแล้ง เพื่อพบกับหยาดฝนแรกแห่งปีที่กำลังจะมาถึง
                        ทว่ากุหลาบแดงกอใหญ่กลับไม่สนใจกับลมร้อนดังว่า มันกลับเริงร่าท้าทายด้วยการผลิดอกสีแดงสด ประชดไอร้อนให้อายในความงาม ที่หากใครสักคนผ่านมาพบ ก็คงต้องสยบอยู่กับความงดงามราวกับราชินีแห่งฤดูร้อนเบื้องหน้านั้น
              ห่างออกไป กุหลาบขาวดงใหญ่ก็กำลังเต่งตูม รอวันเวลาอีกไม่นานที่จะผลิดอกสีขาวบริสุทธิ์ให้โลกได้รับรู้ถึงความงามที่ไม่เป็นรองดอกไม้ชนิดใดบนลานหินทรายแห่งนี้ ซึ่งก็เป็นวัฏจักรของธรรมชาติที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปด้วยสีสันของมวลดอกไม้หลายหลาก ผลิดอกออกช่อเบ่งบานไปในฤดูกาลแห่งปี และไม่ว่าฤดูกาลใด เพลงดอกไม้บนลานหินทรายก็ยังขับขานผสมผสานกับวันเวลาของธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน
                        ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ในวันที่ธรรมชาติย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ไม้ใหญ่น้อยในป่าเริ่มปลิดปลิวทิ้งใบร่วงหล่นลงสู่ผืนดินตามกลไกของธรรมชาติที่สอนให้มันรู้ว่า นี่คือหนทางที่จะยืนหยัดต่อสู้กับฤดูกาลอันแห้งแล้งและยาวนานนี้ได้ตามหนทางเดินในป่าจึงเกลื่อนกล่นไปด้วยใบไม้สีน้ำตาล ยามเดินผ่านก็จะมีเสียงกรอบแกรบดังขึ้นมาแทบทุกย่างก้าว มันเป็นรหัสของป่าอีกอย่างหนึ่งที่กำลังเดินไปในกฎเกณฑ์ ของธรรมชาติอย่างที่ไม่มีใครหยุดยั้ง ราวไผ่ข้างทางยามนี้กลับพบว่ามีความงามยิ่งนัก ด้วยใบสีทองเหลืองอร่ามเปล่งปลั่งไปทั่วทั้งป่า พาให้อารมณ์เพริดไปในความสุนทรีย์ของธรรมชาติรอบข้างได้อย่างไม่น่าเชื่อ เหนือความสูงจากระดับน้ำทะเลขึ้นไปกว่า 1,300 เมตร บนลานหินทรายอันกว้างใหญ่ของภูกระดึง คือ เป้าหมายของการเดินทางในวันฤดูร้อนนี้ด้วยความเหนื่อยอ่อนที่ต้องพาสังขารอันอ่อนล้าขึ้นไปสู่เบื้องบน ใครเลยจะล่วงรู้ว่า ในวันเวลาอันแห้งแล้งเช่นนี้ กลับเป็นเวลาที่งดงามเป็นที่สุดอีกวันหนึ่งของภูกระดึงในรอบปีด้วยต้นฤดูร้อนราวเดือนกุมภาพันธ์นี้ คือวันเวลาที่กุหลาบแดงกำลังบานสะพรั่งไปทั้งภู โดยเฉพาะตามธารน้ำเหนือน้ำตกหลายแห่งซึ่งเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยกุหลาบแดงเป็นที่สุด
                        ปีนี้ก็เช่นเดียวกันกับทุกปีที่ผ่านมาที่ธรรมชาติยังคงทำหน้าที่ของมันอย่างดีและตรงเวลาเป็นที่สุด เหนือธารน้ำตกธารสวรรค์ ซึ่งยามนี้มีเพียงสายน้ำปริ่มๆ ไหลรินจึงเต็มไปด้วยดอกสีแดงสดของกุหลาบแดงเป็นพุ่ม แต่งแต้มในธารน้ำตกแห่งนี้สวยงามไปอีกแบบหนึ่ง ต่างกับในฤดูฝนที่สายน้ำไหลหลากหากแต่ไม่มีสีสันแต่งแต้มดังเช่นฤดูร้อนธรรมชาติไม่เคยให้อะไรที่เกินกว่าคำว่าสมดุล เว้นแต่กลไกแห่งธรรมชาตินั้นจะถูกทำลายลงด้วยหนทางใดหนทางหนึ่ง ซึ่งมนุษย์มักจะเข้าไป เกี่ยวข้องด้วยแทบทุกครั้ง
(บทคัดย่อเรื่อง เพลงดอกไม้ บนลานหินทรายของ สุรจิต จามรมาน จาก อนุสาร อ.ส.ท. พฤษภาคม 2536)
                        แนวการจับใจความส่วนรวม
                        1) ชื่อเรื่อง เพลงดอกไม้ บนลานหินทรายผู้อ่านสามารถจับประเด็นของเรื่องได้ไม่ยาก ชื่อเรื่องมีความแปลกใหม่ชวนให้ฉงนและครอบคลุมใจความของเนื้อเรื่องไว้ทั้งหมด
                        2) ผู้เขียนดำเนินเรื่องด้วยการบรรยายถึงประสบการณ์ของตนใจความแต่ละย่อหน้ามีความสัมพันธ์ต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลแก่กัน ใช้สำนวนเปรียบเทียบที่คมคาย แทรกด้วยการพรรณนาที่ทำให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพและเกิดความประทับใจ ผู้เขียนสรุปเป็นข้อคิดเกี่ยวกับธรรมชาติว่า มีความสมดุลในตัวของมันเองเสมอ หากธรรมชาติ ถูกทำลายลงก็เป็นด้วยน้ำมือของมนุษย์เท่านั้น
                        3) การใช้ภาษา ผู้เขียนเลือกสรรถ้อยคำมาใช้อย่างประณีต ทำให้เกิดความไพเราะด้วยเสียงสัมผัส ทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร เช่น จนเกินกว่าจะรักษาชีวิตของมันให้ผ่านพ้นกาลเวลาแห่งความแห้งแล้งมีการใช้โวหาร โดยสมมุติให้ดอกไม้มีกิริยาอาการและความรู้สึกเหมือนมนุษย์ เช่น มันกลับเริงร่าท้าทายด้วยการผลิดอกสีแดงสดประชดไอร้อนให้อายในความงามผู้เขียนใช้ถ้อยคำทำให้ผู้อ่านนึกเห็นภาพและได้ยินเสียง เช่น ไม้ใหญ่น้อยในป่าเริ่มปลิดปลิวทิ้งใบร่วงหล่นลงสู่ผืนดินตามกลไกของธรรมชาตินอกจากนั้น ยังใช้ถ้อยคำเลียนเสียงธรรมชาติ “...หนทางเดินในป่าจึงเกลื่อนกล่นไปด้วยใบไม้สีน้ำตาล ยามเดินผ่านก็จะมีเสียงกรอบแกรบดังขึ้น...                                               
                        1.2 การอ่านจับใจความสำคัญ ใจความสำคัญคือใจความหลักของเรื่อง เป็นการอ่านที่ละเอียดมากขึ้น เพื่อจับใจความสำคัญของงานเขียนแต่ละย่อหน้า
                         วิธีการอ่านจับใจความสำคัญ
                        - อ่านวิเคราะห์คำหรือประโยค โดยการตีความหมายของศัพท์ยากในข้อเขียน
                        - วิเคราะห์จุดมุ่งหมายงานเขียนว่าเขียนด้วยวัตถุประสงค์ใด
                        - วิเคราะห์น้ำเสียงว่าเป็นไปในทำนองใด ประชดประชัน ล้อเลียน ฯลฯ
                        - วิจารณ์เนื้อหาสาระของงานเขียน
                        ใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้ามีลักษณะดังนี้
                        1) ใจความสำคัญอยู่ต้นย่อหน้า
                        การศึกษาคัมภีร์ฤคเวท ช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจประเทศอินเดีย จากอดีตถึงปัจจุบันได้อย่างถูกต้อง เพราะอารยธรรมอินเดียมีความเป็นหนึ่งเดียวสืบเนื่องยาวนานมาตั้งแต่โบราณถึงปัจจุบันด้วย พาหนะที่สำคัญคือคัมภีร์ฤคเวท ความเป็นไปในปัจจุบันของศาสนา ปรัชญา ศีลธรรม วรรณคดี ตลอดจนพฤติกรรมทางสังคมในอินเดียล้วนมีพื้นฐานมาจากคัมภีร์ฤคเวททั้งสิ้น ความรู้สึกนึกคิดของคนอินเดียปัจจุบันโดยทั่วไปก็เหมือนกับที่ปรากฏในคัมภีร์ฤคเวทเป็น ส่วนใหญ่ อิทธิพลของคัมภีร์ฤคเวทต่อพฤติกรรมในชีวิตของชาวอินเดียได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในทุกที่ตลอดเวลา
                        ตัวขีดเส้นใต้ เป็นใจความสำคัญของย่อหน้านี้
                    2) ใจความสำคัญอยู่กลางย่อหน้า
                        การเลียนแบบเนื้อหาโครงสร้างและโวหารกวีอยุธยาที่ปรากฏในสมัยต้นรัตนโกสินทร์นี้ แสดงว่า กวีรัตนโกสินทร์ไม่นิยมแต่งเรื่องนอกขนบนิยม แต่งอะไรก็เลียนแบบ กวีเก่าแม้แต่ลักษณะคำประพันธ์ก็มีการพยายามเลียนแบบของเก่า เช่น พระยาตรังแต่งโคลงกวีโบราณโดยยกตัวอย่างโคลงโบราณแล้วก็แต่งตามแบบนั้นๆ
                        ตัวขีดเส้นใต้ เป็นใจความสำคัญของย่อหน้านี้
                    3) ใจความสำคัญอยู่ท้ายย่อหน้า
                        วรรณกรรมของศาสนาฮินดู ประกอบไปด้วยรสทุกรสคลุกเคล้าประสมประสาน ปะปนกัน ถ้าจะเปรียบวรรณกรรมของฮินดู เปรียบได้เสมือนปุาใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยพรรณไม้นานาชนิด เป็นไม้เล็กบ้างใหญ่บ้างไม้ชนิดดีมีค่าก็มี ไม้ไร้ค่าก็มี ไม้แก่นไม้กระพี้ ไม้มีพิษและไม้ที่ใช้เป็นสมุนไพรก็มีไม้เหล่านี้ขึ้นปะปนกันไปฉะนั้นบุคคลที่เป็นสามัญชนย่อมพิจารณาได้โดยยากนอกจากนักพฤกษศาสตร์เท่านั้นที่จะสามารถแยกแยะได้ว่าเป็นไม้ชนิดใด ด้วยเหตุนี้วรรณกรรมฮินดูจึงมีทั้งดีที่สุดและเลวร้ายที่สุด แล้วแต่ผู้ใดจะใช้วิจารณญาณเลือกสรรนามาใช้
                        ตัวขีดเส้นใต้ เป็นใจความสำคัญของย่อหน้านี้
                    4) ใจความสำคัญอยู่ตอนต้นและตอนท้ายย่อหน้า เช่น
                        บรรณานุกรมวรรณคดีเปรียบเทียบเป็นสื่อที่สำคัญมาก มีหน้าที่รวมข่าวสารและเผยแพร่ไปยังนักวรรณคดีทุกชาติ เป็นเครื่องมือชิ้นที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ศึกษาวิชาวรรณคดีเปรียบเทียบ ถึงแม้ว่าวิชานี้จะไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอนตายตัว แต่ก็ยังพอมีแนวทางที่เดินร่วมกันได้ บรรณานุกรมเหล่านี้ได้แยกทางเส้นที่สำคัญๆไว้ให้เห็นอย่างเด่นชัด รวมทั้งแนวทางย่อยๆ ที่ต่าง ความคิดเห็นกัน ซึ่งล้วนแต่มีประโยชน์ต่อการศึกษาและการตรวจสอบทั้งนั้น
                        ตัวขีดเส้นใต้ เป็นใจความสำคัญของย่อหน้านี้
               การอ่านจับใจความสำคัญนี้ ต้องสังเกตประโยคใจความหลักและใช้การขีดเส้น บันทึกย่อๆ ด้วยสำนวนของเราเอง
            2. การอ่านตีความ คือ การอ่านที่ผู้อ่านจะต้องใช้สติปัญญาตีความหมายของคำและข้อความทั้งหมด โดยพิจารณาถึงความหมายโดยนัย หรือความหมายแฝงที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อความหมาย ซึ่งทั้งนี้ผู้อ่านจะสามารถตีความหมายของคำ สำนวนได้ถูกต้องหรือไม่ นั้นจำเป็นต้องอาศัเนื้อความแวดล้อมของข้อความนั้นๆ บางครั้งต้องอาศัยความรู้หรือประสบการณ์ปัจจุบัน เป็นเครื่องช่วยตัดสิน การอ่านตีความมีหลักเกณฑ์ดังนี้
การอ่านตีความอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้อ่านต้องพิจารณาความหมายโดยอาศัยบริบท น้ำเสียงของผู้เขียน เจตคติ ภูมิหลังของเหตุการณ์ประกอบด้วย
                ข้อปฏิบัติในการอ่านตีความ
                - อ่านเรื่องให้ละเอียดโดยพยายามจับประเด็นสำคัญของเรื่องให้ได้
                - หาเหตุผลอย่างรอบคอบเพื่อพิจารณาว่ามีความหมายถึงสิ่งใด
                - ทำความเข้าใจกับถ้อยคำที่ได้จากการตีความ
                - เรียบเรียงถ้อยคำให้มีความหมายชัดเจนและมีเหตุมีผลเป็นหลักสำคัญ
                ตัวอย่างการอ่านตีความ
                    เห็นช้างขี้ขี้ตามช้างตีความได้ว่า จะทำอะไรควรดูฐานะของตน ไม่ควรเอาอย่างคนที่มีฐานะดีกว่าเรา
            3. การอ่านอย่างมีวิจารณญาณ การอ่านชนิดนี้เป็นการอ่านที่ค่อนข้างยาก ต้องใช้การหาเหตุผลมาใช้ในการวิจารณ์
                ข้อควรปฏิบัติในการอ่านอย่างใช้วิจารณญาณ
                    3.1 พิจารณาความหมายของข้อความที่อ่าน
                    3.2 พิจารณาความต่อเนื่องของประโยคว่ามีเหตุผลสอดรับกันหรือไม่
                    3.3 พิจารณาความต่อเนื่องของใจความหลักและใจความรอง
                    3.4 แยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็นและความรู้สึก
                    3.5 พิจารณาว่ามีความรู้เนื้อหา หรือมีความคิดแปลกใหม่น่าสนใจหรือไม่
                ตัวอย่างการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ
                    ถึงแม้ว่าคนโบราณจะสอนกันมาว่า อันอ้อยตาลหวานลิ้นแล้วสิ้นซาก แต่ลมปากหวานหูไม่รู้หายดังนี้ก็ตาม แต่ลูกควรระวังคำพูดของคนอื่นโดยเฉพาะคำพูดหวานๆของคนไว้บ้างก็ดี น้ำอ้อยหรือน้ำตาลที่มีรสหวานทิ้งไว้นานเข้าก็กลายเป็นน้ำเมาได้ น้ำคำหวานๆของคนบางคนก็ทำให้เราเมาได้เหมือนกัน พอเมาแล้วก็ทำให้หลง ลืมตัว ลืมใจ เสียรู้ เสียท่าบางครั้งถึงกับเสียเงินเสียทองให้เขา อย่างที่ไม่น่าจะเสีย เพราะไปเชื่อคำหวานของเขา ข้อนี้ขอให้ลูกพิจารณาให้ดี ใครมาพูดจาหวานๆยกยอเราว่าดีอย่างนั้น เก่งอย่างนี้ ลูกต้องระวังไว้ก่อนทีเดียว อย่าเพิ่งไปหลงใหลได้ปลื้มกับคำพูดของเขาในทันที ลูกจะได้ไม่เสียใจภายหลัง ปลาที่ตายไปส่วนหนึ่งเพราะถูกเขา ยกยอขึ้นมา ถ้ามันไม่ติด ยอมันก็จะไม่ตาย เรื่องมันเป็นอย่างนี้จึงควรระวังจะถูก ยกยอแล้วตายไปเหมือนปลา
                    ผู้อ่านต้องใช้วิจารณญาณว่าคำที่สอนมานี้เป็นการเปรียบเทียบกับสิ่งที่สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น น้ำอ้อยที่ทิ้งไว้นานจะกลายเป็นน้ำเมา วิจารณญาณที่จะใช้พิจารณาคือน้ำอ้อยและน้ำเมานั้นอะไรดี อะไรมีโทษ เมา คือความลุ่มหลง หลงเชื่อในคำยอ เปรียบเหมือนปลาที่ติดยอจนตาย คนก็เช่นกันถ้าหลงในคำหวานที่มีโทษก็จะตายไปเหมือนปลา เมื่อได้ประสบเหตุการณ์เหล่านี้ผู้ที่ได้รับรู้คำสอนนี้จะได้ใช้วิจารณญาณของตนพิจารณาได้ว่า อะไรคืออะไร เพราะการฟังและเชื่อโดยไม่พิจารณาให้ถ้วนถี่มีโทษมากมาย
            4. การอ่านวิเคราะห์ การอ่านชนิดนี้เป็นการอ่านเพื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เป็นการแยกแยะทำความเข้าใจองค์ประกอบหรือโครงสร้างของหนังสือแต่ละประเภท
                ข้อควรปฏิบัติในการอ่านวิเคราะห์
                    4.1 ศึกษารูปแบบของงานประพันธ์ว่าเป็นรูปแบบใด
                    4.2 แยกเนื้อเรื่องออกเป็นส่วน ๆ ให้เห็นว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร
                    4.3 แยกพิจารณาแต่ละส่วนให้ละเอียดลงไปว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง
                    4.4 พิจารณากลวิธีในการนำเสนอ
                การวิเคราะห์การอ่านจะต้องคำนึงถึงรูปแบบ กลวิธีในการประพันธ์ เนื้อหาหรือเนื้อเรื่องและสำนวนภาษา การอ่านวิเคราะห์ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
                    - ดูรูปแบบงานประพันธ์ว่าใช้รูปแบบใด อาจเป็นนิทาน บทละคร นวนิยาย เรื่องสั้น บทความ บทละคร ฯลฯ
                    - แยกเนื้อเรื่องเป็นส่วนๆให้เห็นว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร อย่างไร
                    - พิจารณาแต่ละส่วนให้ละเอียดลงไปว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง
                    - พิจารณาให้เห็นว่าผู้เขียนใช้กลวิธีเสนอเรื่องอย่างไร
            5. การอ่านเพื่อประเมินคุณค่า การอ่านวิธีนี้ หมายถึงการที่ผู้อ่านใช้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว ในการประเมินค่างานเขียนซึ่งอาจจะมีเรื่องของอารมณ์ และความรู้สึกส่วนตัวเข้าร่วมด้วย การประเมินคุณค่าที่ดีต้องปราศจากอารมณ์ และในการประเมินคุณค่านั้น ต้องประเมินตามลักษณะของหนังสือด้วย เช่น ถ้าเป็นตำรา เอกสารทางวิชาการต้องประเมินในเรื่องความรู้ การใช้ภาษา ฯลฯ ถ้าเป็นหนังสือสารคดีหรือบทความ ควรประเมินความคิดเห็นของผู้เขียน หรือหนังสือพิมพ์ต้องประเมิน จากความน่าเชื่อถือของข่าว และอคติของผู้เขียน การอ่านประเมินค่า มีวิธีการอ่านดังนี้
                        5.1 ความถูกต้องของภาษาจากเรื่องที่อ่าน ภาษาที่ไม่ถูกต้องจะทำให้ความหมายคลาดเคลื่อนไป ความถูกต้องของภาษามีหลายลักษณะ เช่น การใช้คำผิดความหมาย การเรียงคำในประโยคผิด การไม่รู้จักเว้นวรรคตอน เป็นต้น นับเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการสื่อความหมาย
                        5.2 ความต่อเนื่องของประโยค ว่าเป็นข้อความที่ไปกันได้ ไม่ขัดแย้งกัน หากข้อความใดมีเนื้อหาสับสนวุ่นวาย ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรอ่าน
                       5.3 ความต่อเนื่องของความหมาย คือมีแกนหลักในการเชื่อมโยงความหมาย เช่น การเขียนชีวประวัติ อาจใช้ช่วงเวลาของชีวิตเป็นแกนหลัก เป็นต้น
                        5.4 เมื่ออ่านแล้วต้องแยกข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็น และความรู้สึก จากเรื่องที่อ่านดังตัวอย่าง เช่น
                        ประเทศหนึ่งๆต่างมีระบอบการปกครองแตกต่างกันออกไป ประเทศรัสเซียได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบบสังคมนิยม ไม่มีศาสนา ไม่มีพระมหากษัตริย์ ถ้าข้าพเจ้าต้องมีชีวิตอยู่ที่นั่นคงจะอึดอัดใจมิใช่น้อย เพราะข้าพเจ้าถือว่า ทั้งสองสถาบันนี้คือ ศูนย์รวมจิตใจของทุกคน
                        ข้อเท็จจริง - ประเทศหนึ่งๆต่างมีระบอบการปกครองของตนเองไม่เหมือนประเทศอื่น ประเทศรัสเซียมีการปกครองตามระบอบสังคมนิยม ไม่มีศาสนา ไม่มีพระมหากษัตริย์
                        ความรู้สึก ถ้าข้าพเจ้าต้องมีชีวิตอยู่ที่นั่นคงจะอึดอัดใจมิใช่น้อย
                        5.5 พิจารณาดูความสัมพันธ์ของหลักการและตัวอย่าง ว่าจริง สมเหตุผลหรือไม่ ก่อนที่จะเชื่อสิ่งที่อ่านนั้น
                        5.6 ประเมินข้อเท็จจริง ความคิดเห็น และความรู้สึก วิเคราะห์ความเป็นไปในความคิดของผู้เขียน กับความคิดเห็นส่วนตัวของเรา ผลลัพธ์แห่งการประเมินนั้นจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ให้กับเราหรือไม่
            การอ่านทั้ง 5 ประเภทที่กล่าวมาเป็นการอ่านในใจซึ่งมีหลักฝึกฝนการอ่านในใจดังต่อไปนี้
                1) กำหนดเวลาในการอ่านหนังสือไว้แน่นอน เช่น กำหนดไว้ว่าจะอ่าน 5 นาที เมื่อครบกำหนดเวลา ลองตรวจสอบดูว่าอ่านได้กี่หน้า แล้วทดลองจับเวลาในการอ่านครั้งต่อไป แล้วตรวจสอบดูว่าจำนวนหน้าที่อ่านได้เพิ่มจำนวนขึ้นหรือไม่
                2) ฝึกการเคลื่อนไหวของสายตา ซึ่งลักษณะการเคลื่อนไหวของสายตาและการฝึกใช้สายตาให้อ่านได้รวดเร็วมีดังนี้
                3) การจับตา คือการที่สายตาจับอยู่ที่ข้อความเป็นจุด ๆ ผู้ที่อ่านชำนาญใน 1 บรรทัดจะจับตาน้อยครั้งทั้งใช้เวลาน้อย
                4) ช่วงสายตา หมายถึงระยะห่างจากจุดที่จับตาจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง คนที่อ่านไม่ชำนาญช่วงสายตาจะแคบจะจับตาแทบทุกตัวอักษร
                5) การย้อนกลับ การกวาดสายตาย้อนกลับข้อความที่อ่านผ่านไปแล้วนั้น คนที่อ่านไม่ชำนาญจะย้อนสายตากลับไปอ่านข้อความเดิม เพราะไม่มั่นใจว่าอ่านถูกหรือไม่ ทำให้เสียเวลา นักอ่านที่ดีต้องกวาดตาย้อนกลับในแต่ละบรรทัดน้อยครั้งที่สุด หรือแทบไม่มีเลย
                6) การเปลี่ยนบรรทัด ผู้ที่อ่านอย่างชำนาญเมื่อเปลี่ยนบรรทัด ย่อมเป็นไปอย่างรวดเร็วและแม่นยำโดยไม่ต้องอาศัยการชี้ด้วยนิ้ว หรือการใช้ไม้บรรทัดวางคั่นเพื่อกันหลงบรรทัด
                7) ทดสอบความเข้าใจเมื่ออ่านจบโดยอาจทดสอบเป็นระยะๆ หรือทดสอบเมื่ออ่านจบเรื่องแล้วก็ได้
                8) ศึกษาเรื่องความหมายของคำศัพท์อยู่เสมอ โดยอาศัยการค้นคว้า จดบันทึก จะช่วยให้มีความรู้เรื่องวงศัพท์กว้างขวางและเข้าใจเรื่องที่อ่านได้ถูกต้องรวดเร็วยิ่งขึ้น
                9) หลีกเลี่ยงนิสัยการอ่านที่ไม่ดี ทั้งการทำปากขมุบขมิบ การใช้มือชี้ หรือการย้อนกลับไปอ่านอย่างซ้ำ ๆ
                10) ฝึกฝนการอ่านอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้การอ่านเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำยิ่งขึ้น
การอ่านออกเสียง
การอ่านออกเสียง หมายถึงการอ่านข้อความโดยการเปล่งเสียงออกมาเพื่อให้ผู้อื่นได้รับรู้ข้อความนั้น ๆ ด้วยการอ่านออกเสียงแบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ
1. อ่านทำนองเสนาะ การอ่านทำนองเสนาะเป็นการอ่านออกเสียงบทร้อยกรองหรือวรรณคดีไทยให้ไพเราะน่าฟัง มุ่งให้เกิดความรู้สึกซาบซึ้ง เกิดอารมณ์ จินตนาการ คล้อยตามบทร้อยกรองนั้น ๆ ด้วย
                หลักเกณฑ์ในการอ่านทำนองเสนาะ
            - ต้องรู้จักลักษณะคำประพันธ์ที่จะอ่านก่อนว่าบังคับฉันทลักษณ์อย่างไร
            - อ่านให้ถูกทำนอง  - ควรมีน้ำเสียงและลีลาในการอ่านที่ดี  - ออกเสียงแต่ละคำถูกต้อชัดเจน
2. การอ่านออกเสียงปกติ เป็นการอ่านออกเสียงตามปกติทั่วไป อ่านได้ทั้งบทร้อยแก้วและร้อยกรอง เช่น อ่านข่าว อ่านประกาศ อ่านตีบท อ่านสารคดี อ่านข้อความประกอบภาพนิ่ง หรืออ่านบทภาพยนตร์ ฯลฯ
            การอ่าน มีความสำคัญทั้งด้านการศึกษา การงานและชีวิตส่วนตัว ผู้อ่านที่ดีควรตั้งวัตถุประสงค์ในการอ่านให้ชัดเจน เข้าใจกระบวนการอ่าน เพราะการอ่านมิใช่แต่เพียงเข้าใจความหมายของคำ อ่านคำถูก ออกเสียงได้ถูกต้องเท่านั้น แต่การอ่านสามารถทำให้ผู้อ่านประสบความสำเร็จในชีวิตการเรียน การทำงาน สามารถนำสิ่งที่ได้รับจากการอ่านไปใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อพัฒนาตนเอง และประเทศชาติต่อไป การอ่านนั้นมิใช่เป็นพรสวรรค์ แต่เกิดจากการฝึกฝนและการเรียนรู้ ดังนั้นจึงไม่ควรท้อถอย ผู้อ่านควรตั้งใจไว้เสมอว่า การอ่านมีประโยชน์ทำให้รู้เท่าทันโลก และเหตุการณ์ สร้างบุคลิกภาพให้เป็นคนมีความเชื่อมั่นในตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในปัจจุบันนี้อีกด้วย


การส่งสารด้วยการอ่าน
             การส่งสารด้วยการอ่านเป็นการอ่านให้ผู้อื่นฟัง ซึ่งเป็นวิธีการส่งสารที่ใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวันทั้งในครอบครัว คริสตจักร สถานศึกษา สถานที่ทำงาน  ฯลฯ  จึงจำเป็นต้องอาศัยการพัฒนาสมรรถภาพในการอ่านด้วย ปัจจัยสำคัญในการอ่านมีดังนี้
1.             ความเข้าใจสารในบทอ่าน ผู้อ่านต้องศึกษาความหมายของคำ กลุ่มคำและสำนวนในบทอ่านให้เข้าใจ โดยดูบริบทที่แวดล้อมคำหรือข้อความนั้นๆ
2.             ผู้อ่านควรศึกษาความหมายของคำ กลุ่มคำหรือข้อความที่อ่านแล้วแยกกลุ่มคำหรือแบ่งจังหวะการอ่านให้ถูกต้องเพื่อให้การสื่อความหมายตรงตามเจตนาของสารนั้น
3.              ผู้อ่านต้องมีความพร้อมทั้งกายและใจ สุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงและจิตใจที่เข้มแข็ง ไม่ตื่นเต้นหวั่นไหว ซึ่งจะส่งผลให้การอ่านมีประสิทธิภาพ
4.              การทรงตัวและการใช้กิริยาอาการหรือท่าทางที่เหมาะสมถูกต้อง จะช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานประสานกัน เปล่งเสียงได้ดี มีท่วงทีเหมาะสมและน่าเชื่อถือและการฝึกทักษะในการใช้เสียง
การใช้เสียงให้มีประสิทธิภาพนั้น มีหลักดังนี้
        1.  อัตราเร็วในการเปล่งเสียง ไม่ควรเร็วหรือช้าเกินไป
        2.  ความดังในการเปล่งเสียง  พอเหมาะกับกลุ่มคนฟัง
        3.  ระดับเสียง  ปรับให้เหมาะกับธรรมชาติของแต่ละคน  และเหมาะสมในสถานการณ์
        4.  คุณภาพเสียง  ขึ้นอยู่กับคุณภาพของอวัยวะที่ใช้เปล่งเสียงและเอกลักษณ์ของแต่ละบุคคล
การอ่านข้อความให้น่าฟัง ผู้อ่านจะต้อง
·       เข้าใจสิ่งที่จะอ่านอย่างถูกต้อง
·       ปรับกิริยาอาการให้สอดคล้องกับความหมายของสิ่งที่อ่าน
·       ออกเสียงคำทุกคำได้ถูกต้องชัดเจน
·       มีความรู้ความชำนาญและไหวพริบเพื่อจะเข้าใจในเนื้อหาที่จะอ่าน (ซึ่งอาจยาก/ง่าย)
·       มีการเตรียมตัวด้วยการอ่านและทำความเข้าใจในสิ่งที่จะอ่านก่อนเสมอ
        ทักษะการอ่านให้ผู้อื่นฟังเป็นทักษะการหายใจ ทักษะการใช้เสียงและทักษะการทรงตัว เป็นทักษะพื้นฐานให้การอ่านให้ผู้อื่นฟังโดยทั่วไป แต่ถ้าเป็นการอ่านทางวิทยุโทรทัศน์และในที่ชุมนุมชนที่เป็นทางการ ยังต้องมีทักษะอื่น ๆ อีกหลายประการ อาทิ
1.             การแต่งกาย
 ผู้ที่ทำหน้าที่อ่านทางวิทยุโทรทัศน์  ทางสื่ออินเทอร์เนต คริสตจักร ที่ชุมนุมชน  ฯลฯ อาจเป็นรายการ ข่าว  การประชาสัมพันธ์   การอภิปรายสัมภาษณ์  อาจจะเป็นทางการ  กึ่งทางการ หรือไม่ทางการ  การแต่งตัวจึงควร
·       พิจารณาตามความเหมาะสม ไม่ควรให้หรูหราเกินไป (มิใช่การแสดงละคร)
·        จุดสนใจของผู้ชมอยู่ที่เนื้อหาของการอ่านมิใช่ที่เสื้อผ้าของผู้อ่าน   
·       สีที่ใช้ไม่ควรมีลวดลายมากเกินไป  (อาจทำให้ตาลาย)
·        ไม่ควรใช้เนื้อผ้ามันระยับหรือเครื่องประดับที่แวววาวเกินไป (จะสะท้อนแสงมาก)
·        การแต่งหน้าควรมีความเหมาะสม  เช่น การอ่านพระวจนะของพระเจ้า การกล่าวคำพยาน  การแสดงความคิดเห็น  การกล่าวคำให้โอวาท  ก็อาศัยหลักการแต่งกายเช่นเดียวกันคือ สุภาพ  เหมาะสมกับโอกาส ไม่ฉูดฉาดบาดตาจนเกินไป
2.             กิริยาอาการ
·       ผู้ชมจะสังเกตสีหน้าและกิริยาอาการของผู้อ่านได้อย่างถนัด   
·       ผู้อ่านควรวางสีหน้าอย่างสบายๆ อาจยิ้มน้อย ๆ ให้ดูเป็นธรรมชาติ
·       การเคลื่อนไหวใบหน้าหรือร่างกายควรนุ่มนวล ไม่หลุกหลิก
·       สายตาควรมองผู้ฟังเป็นส่วนใหญ่    ผู้ฟังจะได้รู้สึกว่าพูดกับตน
·       การวางมือ การนั่ง หรือการยืนควรสุภาพและผ่อยคลาย
·       ไม่ระมัดระวังจนกลายเป็นการเกร็งตัว ซึ่งจะทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่สบายตา
3.             การใช้สายตา
การอ่านทางในที่ชุมชน ต่างกับอ่านในกลุ่มมิตรสหาย คือ
·       การอ่านที่ปรากฏอย่างเป็นทางการนั้น
·       ผู้อ่านจะต้องเงยหน้าสบตาผู้ชมเป็นระยะ ๆ 
·       ต้องมีทักษะการกวาดสายตาอ่านอย่างรวดเร็วเป็นพิเศษ
·       ไม่ก้มหน้าอ่านตลอด หรือเงยหน้าแล้วเสียจังหวะการอ่าน
·       ไม่ว่าจะก้มหน้าหรือเงยหน้า การอ่านต้องราบรื่น ไม่สะดุดจนเป็นที่สังเกตได้
·       หากมีอุปสรรคในการอ่าน เช่น กระแอมหรือสำลัก ควรกล่าวคำขออภัยแล้วอ่านต่อไป ไม่ควรตกใจจนลืมว่าอ่านถึงที่ใด เพราะจะทำให้หยุดชะงักอีก

No comments:

Post a Comment