Sunday, August 30, 2009

สรุปหนังสือจากเยรูซาเล็มสู่ปลายแผ่นดินโลก

สรุป
หนังสือจากเยรูซาเล็มสู่ปลายแผ่นดินโลก




หนังสือจากเยรูซาเล็มสู่ปลายแผ่นดินโลก

เป็นเรื่องราวอันน่าตื่นเต้นของการขยายแผ่นดินของพระเจ้าทั่วโลก บันทึกไว้ในรูปของชีวิตชายและหญิง ที่ได้ทำการเหล่านั้น หนังสือเล่มนี้เป็นงานเขียนดีอย่างยิ่ง อ่านง่าย ให้ข้อมูลน่าสนใจ ตรงไปตรงมา (แม้ว่าข้อมูลบางอย่างอาจจะล้าสมัยอยู่บ้างก็ตาม) หนังสือยังประกอบด้วยรูปภาพของบุคคล แผ่นที่ เหมาะแก่ผู้อ่านที่เป็นมิชชั่นนารี ผู้รับใช้ นักศึกษา และทุก ๆ ท่านที่มีความสนใจในงานประกาศพระกิตติคุณ ไปยังทุกมุมโลก
หนังสือจากเยรูซาเล็มสู่ปลายแผ่นดินโลกบันทึกพันธกิจของพระเจ้าผ่านทางชีวิตผู้รับใช้ทั้งชายและหญิงในช่วงเวลา ๒๐๐๐ ปีที่ผ่านมา ซึ่งพอจะสรุปเนื้อหาอย่างย่อ ๆ ได้ดังต่อไปนี้
ผู้เขียนได้บันทึกงานพันธกิจของพระเจ้าเริ่มต้นจากคริสตจักรสมัยแรกแผ่ออกไปจากแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียนคือ เยรูซาเล็ม สู่สะมาเรีย ซีซารียา ดามัสกัส และอันทิโอก เป็นต้น โดยผ่านทางผู้เชื่อทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้เชื่อทั่ว ๆ ไป หรือพวกอัครสาวก เช่นโธมัสออกไปทำพันธกิจที่อินเดีย เปาโลออกไปประกาศตั้งคริสตจักรไม่ต่ำกว่า 30 กว่าแห่ง การเกิดคริสจักรมากมายหลายแห่งในสมัยแรก ก็สืบเนื่องจากการเคี่ยวเข็ญซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่สมัยของจักรพรรดิ์เนโร ประมาณปีคศ. 64 ทำให้คริสตชนในสมัยนั้นต้องย้ายหลักแหล่ง เมื่อพวกเขาไปที่ใดก็มักจะนำคนอื่นมาถึงความรอด ความซื่อสัตย์ของคริสตชนผู้ถูกประหารกลับเป็นพยานอันยิ่งใหญ่ทำให้คริสตจักรยิ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น ดังเช่นการพลีชีพของโปลิคร์าปในปีคศ. 156 ในช่วงศตวรรษที่ 2 จึงมีคริสตจักรตั้งขึ้นใน
การข่มเหงที่รุนแรงที่สุดมีสองครั้ง คือในสมัยจักรพรรดิ์เดซิอัส และดิโอคลีเทียนคศ.303 ความซื่อซัตย์ของคริสตชนผู้ถูกประหารกลับเป็นพยานอันยิ่งใหญ่ทำให้คริสตจักรยิ่งขยายตัวเพิ่มขึ้น ปีคศ. 312ในสมัยของกษัตริย์คอนสแตนตินคริสตจักรเปลี่ยนจากการถูกดูถูกข่มเหงมาสู่ความมีเกียรติ มีการสร้างโบสถ์ใหญ่โตหลายแห่ง พวกบิชอบมีอำนาจมากขึ้น ทำให้เกิดความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นด้านศาสนศาตร์หรือทางการเมือง ทำให้เกิด

การแบ่งแยกในคริสตจักร แม้มีการแบ่งแยกคริสตจักรก็ยังขยายตัวเรื่อยไป ทางตะวันออกขยายไปถึงเปอร์เซีย ทางตะวันตกขยายไปถึงอังกฤษ ทางใต้ขยายไปถึงอาราเบีย ในศตวรรษที่ 4 -5 แพทริคทำการเผยแพร่ที่ไอร์แลนด์ (432)โคลัมบาไปถึงสก๊อตแลนด์ (563) ออกัสตินเดินทางจากโรมไปยังพวกแองโกลแซกสันทางทิศใต้ ในศตวรรษที่ 6 พวกเนส ทอเรียนที่คริสตจักรตะวันตกไม่ยอมรับ ได้หันงานประกาศไปทางตะวันออกจนถึงประเทศจีน ศตวรรษที่ 8 โบนิเฟสได้เดินทางจากอังกฤษไปเยอรมัน และได้ชื่อว่าเป็นอัครทูตแห่งเยอรมัน และมีการขึ้นครองราชย์ของกษัตริย์ชาร์เลอมานผู้ยิ่งใหญ่แห่งอาณาจักรแฟร้งค์ พระองค์เป็ผู้สนับสนุนศาสนาคริสต์ทางด้านกำลังทหารมากกว่ากษัตริย์องค์อื่นๆ ทั้งยังให้เวลาและกำลังทรัพย์ในการทำพระคัมภีร์ฉบับคัดลอกและส่งออกไปยังที่ต่างๆ มากมาย ทรงเป็นผู้นำการประกาศเผยแพร่ไปถึงหลายพื้นที่ในทวีปยุโรป และเป็นผู้ทำให้มีการปฏิรูป การพัฒนาการศึกษาและกิจกรรมคริสเตียนในหลายๆ ด้านในแถบแครอลินเนียน แต่ในเวลาเดียวกันศาสนาอิสลามก็ได้แพร่ขยายจากปาเลสไตน์ แอฟริกา จนไปถึงประเทศสเปน ดังนั้นผู้นำประเทศต่างๆ เห็นว่ากำลังทหารจะเป็นทางเดียวที่จะป้องกันศาสนาของตนได้ จนนำไปสู่การทำสงครามครูเสดในที่สุด ในศตวรรษที่ 9 อันส์การ์ได้ตั้งคริสตศาสนาในสแกนดิเนเวีย ศตวรรษที่ 9 และ10 มีการเผยแพร่ข่าวประเสริฐไปในรัสเซียด้วย และสงครามครูเสดได้อุบัติขึ้นในปี คศ.1095 อันเป็นจุดที่น่าเศร้าที่สุดในประวัติศาสตร์ต่อพันธกิจคริสเตียน เพราะเป็นการสู้รบเพื่อให้ได้มาซึ่งสาสนาคริสต์ แต่ในที่สุดก็พ่ายแพ้และต้องสูญเสียกำลังคนและกำลังทรัพย์ของคริสเตียนอย่างมากมาย ที่สำคัญไม่ได้ทำการออกไปประกาศข่าวประเสริฐเลย
ในยุคกลางการขยายตัวของคริสตศาสนามีอยู่เรื่อยไป ในศตวรรษที่ 13 เรมอน ลัลล์ ออกไปยังแอฟริกาและเอเซียเพื่อประกาศแก่พวกมุสลิมจนถูกฆ่าตาย เช่นเดี่ยวกันที่ จอห์นเดอมองเต คอวิโน เดินทางไปประกาศถึงปักกิ่ง นอกจากนี้ยังมีประกาศต่างๆเกิดขึ้น เช่นคณะฟรานซีกัน ก่อตั้งโดยนักบุณฟรานซิสแห่งอัสซิซิ (1209 ) คณะโดมินิกัน ก่อตั้งโดยนักบุณโดมินิค (1216 ) การอุทิศตัวของพวกเขาต่อความยากจน การโยกย้ายและการเทศนา ก่อให้เกิดกองทัพแห่งมิชชั่นารีและโครงสร้างงานมิชชั่นที่มีอิสรภาพในการปกครองตนเอง ซึ่งเพียงพอต่อการริเริ่มพัฒนาการประกาศอย่างกล้าหาญแก่ประชากรที่ไม่ได้เป็นคริสเตียน ถัดมาคือคณะเยซูอิท โดย อิคนาทิอุส ลาโทยา (1534 )
ในปี 1492 โคลัมบัสค้นพบทวีปอเมริกา และมีการค้นพบเส้นทางทะเลไปทวีปเอเซียโดยอ้อมทวีปอัฟริกาของชาวโปรตุเกส เปิดทางให้มีการเผยแพร่ไปทางอัฟริกา เอเซียและอเมริกา มิชชั่นนารีส่วนใหญ่ที่ออกไปประกาศเป็นคนสเปนและโปรตุเกสที่อุทิศตัวเพื่อเผยแพร่ความเชื่อคาทอลิกภายใต้คณะเยซูอิท ในศตวรรษที่ 16 ฟรานซิส ซาเวีย เดินทางไปประกาศที่อินเดียและญี่ปุ่น ศตวรรษนี้ได้เกิดการปฏิรูปของมาร์ตินลูเธอร์ ซึ่งได้นำชีวิตใหม่มาให้กับศาสนาคริต์ ขณะที่ฝ่ายโปรเตสแตนท์กำลังยุ่งกับการเผยแพร่ความเชื่อของตนในยุโรปเท่านั้น พวกโรมันคาทอลิกกลับมีการประกาศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มัทธิว ริชชี พยายามชักชวนชาวจีนให้เป็นคริสเตียน และ เดอ โนบิลิ มาถึงอินเดีย คณะโดมินิกันไปถึงเฮติ
คริสตจักรโปรเตสแตนท์เริ่มมีการออกไปเป็นมิชชั่นนารีในศตวรรษที่ 18 มีการก่อตั้งองค์การมิชชั่นเดน-ฮัลเล (1705) ซินเซนดอร์ฟก่อตั้งองค์การเฮอร์นฮูท (1722) เอเกเดมาไปประกาศที่กรีนแลนด์ เดวิด
เบรนเนิร์ดไปเผยแพร่กับพวกอเมริกันอินเดียน กลุ่มโมราเวียนส่งมิชชั่นนารีไปหมู่เกาะเวอร์จิน จอร์จ ชมิดท์ไปที่อัฟริกาใต้ ในปี 1793 วิลเลี่ยม แครีย์ เริ่มเผยแพร่ที่อินเดีย ต่อจากนั้นในศตวรรษที่ 19 การตื่นตัวและตอบสนองการทรงเรียกที่จะออกไปเผยแพร่ทั่วโลก มีคณะต่างๆ เกิดขึ้น พร้อมที่จะส่งมิชชั่นนารีไปทั่วโลก เช่น โรเบิร์ต มอริสัน อัดสัน เทย์เลอร์ไปประกาศที่ประเทศจีน ฮัดสันได้ก่อกำเนิดงานมิชชั่นแบบใหม่ที่มีชื่อว่า China Inland Mission ปัจจุบันเรียกว่า Oversea Missionary Fellowship อโดนิแรม จัดสัน ไปเผยแพร่ที่ประเทศพม่า เดวิด ลิฟวิงสโตน บุกเบิกงานเผยแพร่ในอัฟริกา เจมส์ ชาล์เมอรส์ เดินทางไปประกาศในหมู่เกาะแปซิฟิก
จากที่กล่าวมาแล้วนั้นเราจะเห็นว่า แทบจะทุกประเทศในโลกมีงานบุกเบิกเข้าไปถึงแล้ว หรือมิฉะนั้นก็เป็นเป้าหมายต่อไป ผู้เขียนได้บันทึกถึงการประกาศพระกิตติคุณอันครบบริบูรณ์ซึ่งเกี่ยวข้องไปถึงงานด้านสังคม การศึกษา การแพทย์ในหัวข้อการทรงเรียกเพื่องานเฉพาะด้าน
พันธกิจด้านสื่อเสียง
หลังจากการกระจายเสียงเพื่อการค้าเริ่มแพร่หลายกว้างขวางในช่วงปี 1920-1929 ได้ไม่นานนัก คริสเตียนที่มีสายตากว้างไกลก็ฉวยโอกาสใช้สื่อรูปแบบใหม่นี้ในการแพร่พระกิตติคุณ เช่น แคลเรนซ์ ดับเบิลยู. โจนส์ และสถานีวิทยุเอชซีเจบี (Heralding Christ Jesus’ Blessings-การประกาศพระพรของพระเยซูคริสต์) ในเอกวาดอร์ ปี 1931 รายการวิทยุมิชชั่นรายการแรกของโลก ซึ่งในเวลาต่อมาไม่ว่าจะเป็นนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น อินเดีย เยอรมัน และรัสเซีย เป็นต้น ก็สามารถรับฟังพระกิตติคุณจากสถานีวิทยุนี้ด้วย จอย ริคเดอร์ฮอฟ กับงานบันทึกเสียงข่าวประเสริฐ พันธกิจที่เธอได้ก่อตั้งขึ้น ช่างเป็นนวัตกรรมที่ชาญฉลาดในการประดิษฐ์เครื่องมือ เพื่อบันทึกข่าวสารแห่งพระกิตติคุณลงในเครื่องบันทึกเสียง ต่อมาลงบนแถบบันทึกเสียงและแผ่นซีดีในภาษาซึ่งยังไม่มีแม้แต่ผู้เชื่อหรือมิชชั่นนารีด้วยซ้ำ สื่อนี้ยังสามารถผลิตข่าวสารแห่งพระกิตติคุณเป็นภาษาหลักและภาษาท้องถิ่นได้มากมายมหาศาลในเวลาอันรวดเร็ว โดยใช้กับเครื่องมือที่เล่นย้อนกลับไปกลับมาได้ ปัญหาเรื่องการอ่านไม่ออกหรือเขียนไม่ได้ การไม่มีผู้เชื่อท้องถิ่น หรือการขาดแคลนมิชชั่นนารีที่พูดภาษาของพวกเขาได้ ไม่สามารถขัดขวางการประกาศพระกิตติคุณอีกต่อไป

พันธกิจด้านภาษาศาสตร์และการแปลพระคัมภีร์
ตั้งแต่เริ่มแรกที่พระกิตติคุณแพร่เข้าไปในดินแดนแถบเมดิเตอร์เรเนียนและไกลกว่านั้นอีก ก็มีผู้แปลพระคัมภีร์เป็นภาษาซีรีแอค จอร์เจียน คอปติค โดธิค สลาวิค และลาติน และเมื่อถึงกลางศตวรรษที่ 15 พระคัมภีร์ได้รับการแปลเป็นกว่า สามสิบภาษา ต่อมาถึงในช่วงศตวรรษที่ 19 มีการแปลเพิ่มอีกเกือบ500 ภาษา ใน

สมัยก่อนนักวิชาการผู้พิถีพิถันซึ่งอาศัยอยู่ในอารามหรือตามห้องสมุด จะเป็นผู้แปลพระคัมภีร์ แต่ต่อมามิชชั่นนารีซึ่งขาดการฝึกฝนกลับเป็นผู้แปลพระคัมภีร์แทน นอกจากนั้นยังมีนักศึกษา S I L (Summer Institute of Linguistics- สถาบันภาษาศาสตร์ซัมเมอร์)จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก และผู้ช่วยแปลพระคัมภีร์ที่มาจากเผ่าต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเรียนแค่ชั้นประถม ก็กลายเป็นนักแปลที่น่าเชื่อถือในการแปล ปัจจุบันนี้มีภาษาที่ใช้กันมากกว่า 5,000 ภาษา แต่พระคัมภีร์ใหม่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เพียง 1 ใน 3 ของภาษาในโลก ทุกวันนี้มีเหลืออยู่องค์การเดียวที่กำลังแปลพระคัมภีร์มากกว่า 700 ภาษา
พันธกิจด้านการรักษาพยาบาล “ทูตแห่งความเมตตา”
นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของงานพันธกิจจนถึงสมัยปัจจุบัน งานด้านการรักษาพยาบาลก็เป็นส่วนหนึ่งของการประกาศพระกิตติคุณทั่วโลก แต่ไม่ได้กลายเป็นงานที่มีลักษณะเฉพาะตัวจนกระทั่งย่างเข้าปลายศตวรรษที่19 และต้นศตวรรษที่ 20 ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์หลายคนได้ทิ้งงานที่ให้ผลประโยชน์สูงและสถานที่ที่ทันสมัยในประเทศของตน เพื่อไปตรากตรำทำงานที่หนักในสถานที่ไร้ซึ่งความสะดวกสบายและความเจริญ พวกเขาอุทิศชีวิตเพื่อยกมาตรฐานด้านสุขภาพให้สูงขึ้นทั่วโลก และการสร้างโรงพยาบาลและวิทยาลัยแพทย์จากทุนทรัพย์ที่พวกเขาเป็นคนถวายหรือเรี่ยไรมาได้ ถึงกระนั้นมิชชั่นนารีด้านการรักษาพยาบาลก็ต้องเผชิญอุปสรรคเช่นเดียวกับมิชชั่นารีอื่นๆ เพราะแนวคิดด้านการแพทย์ที่พวกเขานำไปเผยแพร่มักขัดแย้งกับขนบธรรมเนียม การถือโชคลาง และความกลัวต่างๆ ของพื้นเมืองอยู่บ่อยครั้ง
มิชชั่นนารีด้านการรักษาพยาบาลคนแรกซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในยุคสมัยใหม่ได้แก่ นายแพทย์จอห์น โธมัส เขาเข้าไปในอินเดียก่อนวิลเลี่ยม แครีย์ และต่อมาได้ทำงานร่วมกัน เดวิด ลิฟวิงสโตน และฮัดสัน เทย์เลอร์ซึ่งได้รับการฝึกอบรมด้านการแพทย์ ก็ได้ใช้การรักษาพยาบาลเป็นตัวประกอบในงานมิชชั่นของเขาด้วย อัลเบิร์ท ชไวท์เซอร์ ผู้มีชื่อเสียงลือเลื่อง เขาเป็นทั้งนายแพทย์ นักดนตรี และนักวิชาการพระคัมภีร์ ผู้อุทิศตัวและเริ่มงานมิชชั่นารีด้านการรักษาพยาบาลในอัฟริกาตะวันตก
งานมิชชั่นโลกที่สาม
ในศตวรรษที่ 20 เริ่มมีพัฒนาการใหม่ของงานมิชชั่นคือว่า ปัจจุบันมิชชั่นนารีไม่ได้มาจากคริสตจักรตะวันตกแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่คริสเตียนจากประเทศโลกที่สาม ซึ่งได้แก่ ปรเทศในแถบเอเซีย อัฟริกา และลาตินอเมริกา กำลังแบกรับภาระงานประกาศพระกิตติคุณแก่มวลชนทั่วโลกไว้มากขึ้นทุกที รวมทั้งทำพันธกิจกับชนกลุ่มอื่นๆ ในประเทศของตนด้วย ปี 1980 ประเทศโลกที่สามกำลังส่งและสนับสนุนมิชชั่นนารีกว่าหนึ่งหมื่นคนไปทำงานข้ามวัฒนธรรม มีประมาณการว่าปี 2000 ร้อยละหกสิบของคริสเตียนในโลกจะอยู่ในประเทศโลกที่สาม
ประเภทขององค์การพันธกิจในศตวรรษที่ 20
อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่ต้องทำงานหนักเพื่อวางรากฐานสำหรับการเติบโต การดูแลก่อตั้งคริสตจักร และการฝึกฝนอบรมผู้นำท้องถิ่น หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเวลาที่มีการเน้นความสำคัญต่อคนมากกว่าประเทศตามอย่างมุมมองของนักวิชาการทั่ว ๆ ไป ต่อไปนี้จะขอสรุปถึงงานโดยเฉพาะด้านองค์กรพันธกิจบางด้านซึ่งมีบทบาทอย่างมากต่อในสิ่งที่กล่าวมานี้ เช่น องค์การพันธกิจด้วยความเชื่อ เป็นองค์กรที่ไม่ขึ้นกับคณะนิกายใด แต่ ทำงานเป็นอิสระ เช่น องค์กรประเภทที่ทำงานในด้าน รายการวิทยุ โทรทัศน์ บทเรียนทางไปรษณีย์ เทปพระกิตติคุณ พระคริสตธรรมเลื่อนที่ เป็นต้น องค์การเหล่านี้จะเน้นการประกาศ สร้างคริสตจักร ทำพันธกิจในดินแดนใหม่ ๆ เป็นต้น สถาบันพระคริสตธรรม งานในด้านนี้จะเน้นการศึกษาพระคัมภีร์ การประกาศ และพันธกิจ นอกจากนี้นักศึกษาจำนวนมากมายได้มีส่วนทำให้มีการตื่นตัวเรื่องการจัดส่งมิชชั่นนารีออกไปประกาศยังต่างประเทศ การเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีมิชชั่นนารี ผู้เขียนได้เสอนให้เราเป็นถึงบทบาทของสตรีในด้านการมีการศึกษามากขึ้น


และเริ่มกระตือรือร้นมีส่วน มีอิทธิพลในสังคมบ้าง แต่บทบาทของสตรียังถูกจำกัดอยู่มากในสังคม ในขณะที่งานด้านพันธกิจนั้นสตรีกลับมีบทบาทมากยิ่งขึ้น เป็นต้น
สรุป
ตามที่ได้สรุปมาอย่างคร่าว ๆ ถึงงานด้านพันธกิจของพระเจ้า ตามที่บันทึกไว้ในหนังสือจากเยรูซาเล็มสู่ปลายแผ่นดินโลกในตอนต้นเหล่านั้น ถือได้ว่าเป็นเพียงบางประเด็นที่น่าสนใจเท่านั้น ซึ่งยังมีประเด็นอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นข้อมูลที่ดีสำหรับผู้ที่ต้องการเปิดโลกทัศน์ของตนเอง ต่อพันธกิจแห่งความรอดของพระเจ้าในท่ามกลางมนุษยชาติ ดิฉันเองได้รับประโยชน์อย่างมากมายในการอ่านและทำการสรุปหนังสือเล่มนี้ ขอยอมรับว่าเป็นหนังสือในด้านวิชาการที่อ่านง่าย นำการเปลี่ยนแปลงในความคิด ทางที่กว้างมากยิ่งขึ้น ขอขอบคุณท่านอาจารย์ที่สอนพวกเราในวิชาแนะนำพันธกิจโลก และแนะนำพวกเราได้อ่านหนังสือดีอย่างยิ่งเล่มนี้

No comments:

Post a Comment